โครงการพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพ และดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) โดยแพทย์ทางร่วม 2 จังหวัด 3 อำเภอ 10 ชุมชน

  • photo  , 1000x667 pixel , 76,065 bytes.
  • photo  , 1000x1414 pixel , 164,715 bytes.
  • photo  , 2048x1367 pixel , 198,000 bytes.
  • photo  , 2048x1367 pixel , 184,047 bytes.
  • photo  , 1000x667 pixel , 81,157 bytes.
  • photo  , 2048x1367 pixel , 161,133 bytes.
  • photo  , 1000x667 pixel , 80,130 bytes.
  • photo  , 1000x667 pixel , 85,591 bytes.
  • photo  , 1000x1500 pixel , 139,281 bytes.
  • photo  , 1365x2048 pixel , 178,522 bytes.
  • photo  , 1000x667 pixel , 75,363 bytes.
  • photo  , 1000x667 pixel , 71,550 bytes.
  • photo  , 2048x1365 pixel , 155,765 bytes.
  • photo  , 1000x667 pixel , 98,985 bytes.
  • photo  , 1000x667 pixel , 72,746 bytes.
  • photo  , 1000x667 pixel , 94,673 bytes.

กลุ่มปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Disease : NCDs) คือวาระสำคัญระดับโลก โดยสมัชชาองค์การสหประชาชาติได้จัดประชุม ว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังระหว่างผู้นำระดับสูงของประเทศและร่วมรับรอง “ปฏิญญาการเมืองว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Political Declaration)” นำมาซึ่งการกำหนด 9 เป้าหมายระดับโลกด้านการควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังภายในปี 2568

ประเทศไทยได้ทำการรับรอง 9 เป้าหมายดังกล่าวเป็นเป้าหมายของประเทศ ลดความชุกของโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็น 2 ในเป้าหมายหลักสำคัญ  (สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2562)  ซึ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทยมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นมากต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนวัยทำงาน และพบในคนอายุน้อยลงเป็นลำดับ โดยสัดส่วนการตายก่อนวัยอันควรจากโรคติดต่อเรื้อรังสูงเกินร้อยละ 50 (วิวัฒน์ โรจนพิทยากร, 2562) หากพิจารณาเฉพาะโรคเบาหวาน อัตราป่วย ในปี พ.ศ. 2553 เท่ากับ 793 ต่อประชากรแสนคน และเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ.2563 เป็น 1,529 ต่อประชากรแสนคน และโรคความดันโลหิตสูงอัตราป่วย ในปี พ.ศ. 2553 เท่ากับ 1,059 ต่อประชากรแสนคน และเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2563 เป็น 2,388 ต่อประชากรแสนคน (สำนักงานสภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2563)

ความรุนแรงที่สะท้อนผ่านปริมาณผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ในเวลา 10 ปี เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาล และผลิตภาพของประชากรที่สูญเสียไป โดยประมาณการว่าในระหว่าง พ.ศ. 2554 ถึง 2573 นั้น ต้นทุนของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ต่อสังคมโลกจะมีมูลค่าถึง 46.7 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 1,401 ล้านล้านบาท หนึ่งในสี่ของประชากรโลกจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นการเสียชีวิตก่อนวัย 60 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสูญเสียผลิตภาพอย่างใหญ่หลวงของสังคมโดยรวม ยังไม่รวมถึงความสูญเสียทางสังคมจากการขาดงานและปฏิบัติงานได้ไม่เต็มที่จากผู้ป่วย NCDs และผู้ดูแล

ประเทศไทยประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ใน 4 กลุ่มโรคหลัก พบว่า มีมูลค่าทั้งสิ้น 198,512 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2552 หรือคิดเป็นร้อยละ 2.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 3,128 บาทต่อหัวประชากร ซึ่งต้นทุนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 74) เป็นต้นทุนจากการสูญเสียผลิตภาพจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

การสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานจากการขาดงานของผู้ป่วย และต้นทุนจากการสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานจากการขาดงานของผู้ดูแล (สำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ, 2557) ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID –19) ที่เกิดการแพร่ระบาดทั่วโลกพบว่า ประเทศไทยยังมีจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งเมื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่าผู้ติดเชื้อที่มีประวัติป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ต้องเสียชีวิต คิดเป็นร้อยละ 66.20 จากยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมด (กรมควบคุมโรค, 26 มกราคม 2564)

ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ประกาศสนับสนุนให้มี “ระบบการแพทย์พหุลักษณ์” เน้นการผสมผสานระหว่างการแพทย์สมัยใหม่ ร่วมกับการแพทย์ที่ดำรงอยู่ก่อนการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น การฝังเข็ม การใช้สมุนไพร การผดุงครรภ์แบบดั้งเดิม พิธีกรรม เป็นต้น รวมทั้งยังสนับสนุนให้มีการดูแลสุขภาพตนเองหรือการใช้ความรู้ประสบการณ์ของประชาชน ทั้งสนับสนุนให้มีการบูรณาการแพทย์ดั้งเดิมหรือการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นการแพทย์นอกกระแสหลัก หรือปัจจุบันเรียกว่า การแพทย์ทางเลือก (Complementary and Alternative Medicine : CAM) ที่เป็นการดูแลสุขภาพแบบส่งผ่านกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของแต่ละประเทศ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบสาธารณสุขแห่งชาติควบคู่กันไป มุ่งให้ประชาชนเข้าถึงและสามารถใช้บริการได้

แต่ละประเทศจึงมีรูปแบบบูรณาการแพทย์ทางเลือกเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพที่หลากหลาย ประกอบด้วย 4 ลักษณะ คือ

1.)ระบบแบบเดี่ยว

2.)ระบบแบบยอมรับบางส่วน

3.)ระบบแบบคู่ขนาน

และ 4.)ระบบแบบบูรณาการ สำหรับในทวีปเอเชีย

ประเทศส่วนใหญ่บูรณาการการแพทย์ทางเลือกเข้าสู่นโยบายสาธารณสุขแห่งชาติในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา และยิ่งมีความก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

ด้านองค์การอนามัยโลกมีมติเป้าหมายให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า และภายใต้การขับเคลื่อนขององค์การอนามัยโลกเชิงโครงสร้างของสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุขได้รับนโยบายมาเป็หลักของระบบสุขภาพ ตระหนักถึงข้อจำกัดของแพทย์แผนปัจจุบันว่าไม่สามารถกระจายการบริการได้อย่างทั่วถึง และเสมอภาค เพราะขาดแคลนบุคลากร เครื่องมือราคาแพง ค่าใช้จ่ายสูง จึงมีการสนับสนุนให้นำการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน มาใช้ดูแลสุขภาพอีกทางหนึ่ง ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานการแพทย์แผนไทยในระดับกองและกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 3 กำหนดให้ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมบริการการแพทย์แผนไทยตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ คือ ให้มีการบูรณาการบริการร่วมกับการแพทย์กระแสหลัก

ผลที่ได้ยังไม่สามารถลดปริมาณผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับปฐมภูมิ อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมประจำตำบล ซึ่งนับได้ว่าเป็นระดับที่สามารถเข้าถึงเพื่อส่งเสริมสุขภาพชุมชนให้มีสุขภาวะที่ดี ปัจจัยสำคัญของปัญหาเกิดจากระบบการให้บริการของแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย และแพทย์พื้นบ้าน ยังคงใช้ระบบการรักษาแบบเดี่ยว กล่าวคือ แต่ละฝ่ายต่างรักษาผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในพื้นที่เดียวกันตามวิชาชีพ ในลักษณะที่เรียกว่า “การรักษาสุขภาพแยกศาสตร์ วิธีการรักษาแยกส่วน” ซึ่งคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้ลดลงหรือหมดไปจากพื้นที่ได้

โครงการพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพ และดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) โดยแพทย์ทางร่วม  กำหนดตัวชี้วัดให้เกิดหน่วยบริหารปฐมภูมินำร่องในพื้นที่เป้าหมาย 2 จังหวัด 3 อำเภอ 10 ชุมชน ( สตูล ในอำเภอละงู ตำบลละงู  4 หมู่บ้าน อำเภอควนโดน 3 หมู่บ้าน, จังหวัดสงขลา ในอำเภอจะนะ 3 หมู่บ้าน)

มีรูปแบบการจัดบริการการแพทย์ทางร่วมร่วมระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุข และเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการร่วมสร้างเสริมสุขภาพ และดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในหน่วยบริการปฐมภูมิ มุ่งพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพ และดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังระหว่างกลุ่มแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน ร่วมกับพัฒนากระบวนการทำงานระหว่างบุคคลทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุข และพลังชุมชน ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคมในการสร้างเสริมสุขภาพ และดูแลป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยชุมชน ทั้งเกิดข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนการจัดบริการแพทย์ทางร่วม (แพทย์พื้นบ้าน แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนปัจจุบัน) จากหน่วยบริการปฐมภูมิ

โปรดติดตามความก้าวหน้าของโครงการทางเพจสมาคมวัฒนพลเมือง

(In picture: ประชุมขับเคลื่อนโครงการพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพ และดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) โดยแพทย์ทางร่วม และ การประชุมเตรียมกิจกรรมปฐมนิเทศผู้เรียนหลักสูตรพัฒนาอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุชุมชน ในวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม 2565 ณ อาคารเอนกประสงค์มัสยิดเขาน้อย ต.ย่านซื่อ อ.ควนโดน จ.สตูล โดยโครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ประจำภาคใต้)

#การพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพ

#ดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

#NCD

#แพทย์ทางร่วม

#สมาคมวัฒนพลเมือง

#สสส


ขอบคุณข้อมูลจากเพจ วัฒนพลเมือง สวพ. Citizenship Evolution Association

Relate topics