การสร้างเสริมสุขภาพกับฐานการพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

  • photo  , 960x720 pixel , 103,463 bytes.
  • photo  , 960x478 pixel , 71,108 bytes.
  • photo  , 1000x462 pixel , 163,591 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 62,134 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 101,564 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 157,994 bytes.
  • photo  , 1000x563 pixel , 148,375 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 103,199 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 119,809 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 113,258 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 107,183 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 105,701 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 108,865 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 95,776 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 143,443 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 104,410 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 120,466 bytes.
  • photo  , 720x960 pixel , 157,385 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 87,235 bytes.
  • photo  , 720x960 pixel , 91,356 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 158,670 bytes.

การสร้างเสริมสุขภาพฐานการพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนท้องถิ่น@ภาคใต้ตอนบน

จากเวทีเรียนรู้ประเมินผลลัพธ์โครงการ สสส.เพื่อพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนท้องถิ่น วันที่ ๑๙-๒๐ เมย. ๖๒ ณ บ้านเขาน้อย อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร

มีสาระหลายประการที่อยากบันทึกไว้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาการทำงานร่วมกันในระยะยาว

๑.ความท้าทายในการจัดเวทีเรียนรู้ประเมินผลลัพธ์โครงการ สสส.เพื่อพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนท้องถิ่นในครั้งนี้ มีอยู่ ๓ ประการ

๑)เวทีนี้มีเป้าหมายเกินกว่า ๓ เท่าของผลลัพธ์ของโครงการหน่วยจัดการสร้างเสริมสุขภาพที่ตั้งไว้

๒) พลิกเปลี่ยนรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้จากที่ผ่านมา มุ่งเน้นที่ชุมชนท้องถิ่น ไม่มีห้องประชุม ไม่มีแอร์ ไม่มีคลิปชาร์ท และจอโปรเจคเตอร์ ฯ (จึงผิดธรรมชาติวิถีวิถีปฏิบัติของทีมจัดการและผู้เข้าร่วมประชุม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) ต้องมีความเป็นธรรมชาติและเรียบง่าย เกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น เปลี่ยนมุมคิดเรื่องการเรียนรู้ นั้นเกิดขึ้นได้ทุกที ทุกเวลา หากมีสติอยู่กับการสนทนาย่อมเกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง

๓)การบูรณาการความร่วมมือและเป็นเจ้าภาพร่วมกันของทีมทำงานและภาคียุทธศาสตร์ ทั้งในรูปแบบการจัดการข้ามทีม ข้ามเครือข่ายข่าย ข้ามหน่วยงานตระกูล ส. (สสส.-สปสช.-สช.-สธ.) อปท. , พอช. ฯ หัวใจสำคัญคือ การให้คุณค่าในภารกิจหน้าที่ตนเอง องค์กรที่สังกัดอยู่ และอย่าคิดแค่ผลงานตัวชี้วัดของงานตนเอง แต่ต้อง คิดเผื่อ คิดเอื้อ จะเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไร?

๒.ทีมจัดการเวที ครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันหลายฝ่าย โดยมีแม่งานหลัก คือ

ทีมหน่วยประสานจัดการโครงการสร้างเสริมสุขภาพระดับพื้นที่ชุมพร-ระนอง : สมาคมประชาสังคมชุมพร

(มีองค์ประกอบของที่ปรึกษา-คณะทำงาน-ทีมพี่เลี้ยง ซึ่งมาจากหลากหลายทั้งภาคประชาสังคม – ภาคราชการส่วนท้องถิ่น-บุคลากรสาสุข-ทีมวิชาการ)

กับทีมเทศบาลตำบลเนินสันติและกรรมการหมู่บ้านเขาน้อย อ.ท่าแซะ ฯ

และทีมศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดชุมพร

ทีมคณะทำงานพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น

ทีมสภาผู้ชมผู้ฟัง ThaiPBS ทีมสื่อภูมิภาคภาคใต้ ฯ

ดังนั้นจึงกำหนดเป้าหมายเวทีนี้ไว้ ๓ ประการ

๑)เพื่อให้เกิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลลัพธ์โครงการสร้างเสริมสุขภาพระดับพื้นที่ (ชุมพร-ระนอง)

๒)เพื่อยกระดับปฏิบัติการและเชื่อมโยงการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนท้องถิ่น และขยายผลสู่สาธารณะ

๓)เพื่อกระตุ้น หนุนเสริมพื้นที่ให้เกิดการปฎิรูประบบสร้างเสริมสุขภาพชุมชนท้องถิ่น

๓.การดำเนินงานของโครงการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชนท้องถิ่นที่ผ่านมา อันเป็นชุดประสบการณ์มาสู่การจัดเวทีครั้งนี้ ซึ่งเป็นเวทีที่สามนี้จำนวน ๑๗๖ คน (เกินจากกลุ่มเป้าหมายในกิจกรรมแต่ละครั้งๆ ละ ๗๔ คน) ในการสนับสนุนดำเนินงานโครงการสร้างเสริมสุขภาพพื้นที่จากการสนับสนุนของ สสส.สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก ๖) ซึ่งทีมชุมชนต้องบริหารจัดการโครงการด้วยตนเอง รับงบประมาณ สสส.โอนตรงให้พื้นที่ ๓๗ โครงการ/พื้นที่ ทั้งเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ โดยมีทีมโหนดจังหวัดทำหน้าที่เป็นหน่วยสนับสนุนติดตามประเมินผล และการจัดเวทีเรียนรู้โดยครั้งแรกมีผู้ร่วมเรียนรู้จำนวน ๑๓๙ คน เมื่อ ๑๓-๑๔ กค. ๖๑ @ บ้านเขาสวนทุเรียน อ.สวี ชุมพร

เพื่อสร้างแรงบันดาลใจจากตัวแบบชุมชนน่าอยู่และเข้าใจหลักการสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้แผนที่บันไดผลลัพธ์เป็นเครื่องมือสำคัญ ครั้งที่สองมีผู้เข้าร่วมเรียนรู้ ๑๒๕ คน เมื่อ ๒๓-๒๔ พย.๖๒ @ เทศบาลตำบลบางนอน อ.เมือง จ.ระนอง สำหรับเวทีครั้งนี้ได้คิดเผื่อ คิดเอื้อให้ชุดโครงการชุมชนน่าอยู่ในพื้นที่ชุมพร เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภคระดับอำเภอ เครือข่ายกองทุนท้องถิ่น เครือข่าย พอช. และเครือข่าย อสม. รวมทั้งชาวบ้านเทศบาลเนินสันติ ได้มาร่วมเรียนรู้กระบวนการทำงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก

๔.กระบวนการเรียนรู้ประเมินผลลัพธ์โครงการ เพื่อพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนท้องถิ่นครั้งนี้ ได้จัดรูปแบบกิจกรรม โชว์ แชร์ เชื่อม โดยทีมทำงานหลายฝ่ายต่างช่วยกันจัดเวที จัดโรงครัว จัดซุ้มนิทรรศการ ประดับตกแต่งเวทีด้วยธง ร่มและฟางด้วย ๗ มนุษย์มหัศจรรย์ประจำสมาคมประชาสังคมชุมพร(ศูนย์ประสานงานฯ) ตั้งแต่บ่ายวันที่ ๑๘ เมย. ถึงค่ำคืน น้องรดานัฐ ผอ.กองสาสุขเทศบาลเนินสันติ กับทีมงานก็จัดเตรียมการตรวจสารเคมีติดค้างในเลือด ขณะเดียวกันทีมสภาผู้ชมผู้ฟังก็จัดบูธสถานที่ไปพร้อมๆ กัน ปิดท้ายด้วยรสชาติข้าวต้ม จากพี่อารีย์ ทีมชุมชนดอนยาง ซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วมอีกชุมชนหนึ่ง

โดยสรุปแล้วมีกิจกรรมสำคัญในห้วงสองวันดังนี้

ช่วงที่ ๑ เปิดเวทีด้วยผู้บริหารท้องถิ่นเทศบาลตำบลเนินสันติ (นายกนิยม) และกลองยาวบ้านหนองจระเข้ ตำบลนาชะอัง (หนึ่งในพื้นที่โครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น นำทีมโดยน้องแสบ เกษตรกรรุ่นใหม่) และชี้แจงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน การประเมินผลลัพธ์ฉบับบ้านๆ โดยหัวหน้าทีมโหนด (นายทวีวัตร เครือสาย)

ช่วงที่ ๒ การสรุปประเมินผลลัพธ์การสร้างเสริมสุขภาพ ๘ ประเด็น ได้แก่ ๑.บริโภคผักผลไม้ในโรงเรียน ๒.ผลิตและบริโภคผักปลอดสาร ๓.ดูแลผู้สูงอายุ ๔.ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ๕.จุดเสี่ยงอุบัติเหตุในชุมชน ๖.การจัดการขยะ ๗.ลดละเลิกเหล้า๔.ควบคุมบุหรี่ยาสูบ กลุ่มย่อยทั้งรอบเช้าและบ่าย ด้วยโจทย์คำถามสำคัญได้แก่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ? เกิดขึ้นได้อย่างไร ? ใครทำ ใครเกี่ยวข้อง ? แล้วค้นพบบทเรียนสำคัญอะไร? มีทีมพี่เลี้ยงชวนคิดชวนคุย บันทึกสรุปบทเรียนไว้

ช่วงที่ ๓ สรุปบทเรียนสำคัญ และแลกเปลี่ยนการสร้างเสริมสุขภาพเชิงพื้นที่ (เปิดรับทั่วไป/ชุมชนน่าอยู่) จุดเน้นที่กลไกขับเคลื่อนโครงการ โดยพี่เลี้ยงทีมสาสุข คุณสมใจ ด้วงพิบูลย์ คุณวิษณุ ทองแก้ว ชวยคุยอภิปรายกลุ่มใหญ่ร่วมกันใช้สภาผู้นำของชุมชนน่าอยู่บ้านทุ่งวัวแล่น เป็นกรณีศึกษามาบอกเล่าประสบการณ์การจัดตั้งและพัฒนาทีมสภาผู้นำ ด้วยศาสตร์และศิลป์ ของนักเชื่อมพลัง นักเล่นกับพลัง ระหว่างอำนาจที่เป็นทางการกับอำนาจทางความรู้ มีการทำงานแบบเกาะติด สร้างโมเดลรูปธรรมงานของตนเองให้เกิดการยอมรับ พร้อมเป็นผู้ตาม ผู้รับใช้ ให้โอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ให้มีที่ยืนในสังคม

ช่วงที่ ๔ ผ่อนพัก สันทนาการ โดยทีมแม่ครัว แม่บ้านคุณนายแห่งเมืองท่าแซะ เกือบ ๕๐ ชีวิต ทั้งนักร้อง ชุดการแสดง ๓ ชุด ฟ้อนรำเบิกฟ้าเมืองใต้ รำลีลาศ สาวน้อยรำวง ที่น่าทึ่งพี่จิต และทีมแม่ครัวบ้านเขาน้อย สลับแปลงร่างจากชุดทำครัวแต่งชุดสีแดง เป็นนักร้อง นักเต้น ขับขานเพลงลูกทุ่งอันไพเราะ กิจกรรมสลับกับการเต้นรำของทีมงาน และชาวบ้านเขาน้อย บ้านดอนยาง ท่านผู้ใหญ่กัลยา อินทนาพาง เจ้าภาพหลักงานนี้ได้ขึ้นเวทีมอบรางวัลเป็นกำลังใจแก่ชุดการแสดง

ช่วงที่ ๕ เช้าวันที่ ๒๐ เมย. เป็นการอภิปราย มุมมองและภารกิจขององค์กรต่อการพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนท้องถิ่น

ก่อนเริ่มก็มีการสรุปบทเรียนสร้างเสริมสุขภาพที่ผ่านมาและกรอบแนวคิดการพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนท้องถิ่น ด้วยหลักการส่งเสริมสุขภาพ ตามกฎบัตร ออตว่าซาเตอร์ ปี ๒๙ (ระบบสุขภาวะชุมชนท้องถิ่น โดยเทียบเคียงหลักการ ส่งเสริมสุขภาพ (ออตตาว่าชาเตอร์ ปี ปี ๒๙) ๕ ด้านที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่

๑.) มีนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ

๒)มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ

๓)ชุมชนเข้มแข็ง (ระบบเศรษฐกิจชุมชนหรือมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่:หมอประเวศ วะสี)

๔)ระบบบริการสุขภาพแบบองค์รวม

๕)การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล (ระบบกลไกผู้นำและอาสาฯ/การเรียนรู้ : พลเมืองผู้รอบรู้ทางสุขภาพ ผู้นำ อาสาสมัคร) และระบบอื่น ๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ เช่น ระบบสื่อสาร ระบบสวัสดิการ ระบบสังคมวัฒนธรรม ระบบสวัสดิการ ฯ ) ตามด้วยผู้แทนองค์กร

คุณกรฤทธิ ชมนุรักษ์ จาก สช. “ เรากำลังเดินทางไกลในการปฏิรูประบบสุขภาพ สช.มีเครื่องมือนโยบายสาธารณะ พร้อมที่จะเติมเต็มพื้นที่ ที่พร้อมจะร่วมกันเดินทางไกล ไปสู่ระบบสุขภาวะชุมชนท้องถิ่น ”

คุณชญานิน เอกสุวรรณ สปสช.เขต ๑๑ “ สิ่งที่เราร่วมกันทำนั้นดีอยู่แล้ว ถือว่าเป็นผู้นำและชุมชนพื้นที่แถวหน้าของเขต ๑๑ ที่ต้องคิดทำต่อไปคือ จะพัฒนาต่อยอด ขยายผลรูปธรรมโครงการกิจกรรมเหล่านี้ให้ คมชัดลึก กว้างขวางใหญ่ขึ้นได้อย่างไร สปสช.มีช่องทางเอื้ออำนวยให้ทุกพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ในเขต ๑๑ สุราษฎร์ธานี กว่า ๖๐๐ ล้านบาท พร้อมที่จะเป็นกำลังเสริมหนุนพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนท้องถิ่น ”

คุณวิระ ปัจฉิมเพชร ประธานสภาผู้ชมผู้ฟัง ThaiPBS ภาคใต้ “ สสท. คือทีวีสาธารณะที่เป็นของประชาชนทุกคน ได้ใช้ประโยชน์ในการสื่อสารเรื่องราวดี ๆ พัฒนาชุมชนท้องถิ่น ทุกคนสะท้อนกลับการพัฒนารูปแบบรายการที่เหมาะสม หลายช่องทาง ขณะเดี่ยวกัน ยังมีช่องทาง App C Site ให้เราได้ส่งเรื่องราวดีๆ ชุมชนท้องถิ่น รูปแบบคลิป สารคดีเชิงข่าวพลเมือง ในอนาคตต้องร่วมกันทำให้เราทุกคนเป็นเจ้าของและใช้ประโยชน์ทีวีสาธารณะช่องนี้

และในส่วน พชอ. คือสถาบันองค์กรชุมชน ก็เป็นหุ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนท้องถิ่น ทั้งกลไกสภาองค์กรชุมชน และกองทุนสวัสดิการชุมชน เราต้องร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้เกิดการจัดการตนเองที่พื้นที่ให้ได้มากที่สุด ”

ปลัดธีรนันต์ ปราบราย ทต.นาชะอัง (ผู้แทน อปท.) การพัฒนาท้องถิ่นยุคใหม่ ต้องมุ่งไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นหลัก ยึดชุมชนพื้นที่เป็นตัวตั้ง ให้เกิดความเข้มแข็ง เพราะ กว่า ๒๐ ปีแล้ว ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ดีพอสมควร (แล้วมันเกิดอะไรขึ้น)

จากนั้นจึงเข้าสู่คิดยกระดับขับเคลื่อนต่อ กลุ่มย่อย ๕ ประเด็นสำคัญได้แก่

๑.อาชีวอนามัย (เกษตรปลอดสาร)

๒. จัดการโรคเรื้อรัง & เด็กอ้วน

๓.สุขภาวะผู้สูงอายุ (พฤฒิพลัง)

๔.จัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ (เหล้า-บุหรี-ขยะ-อุบัติเหตุ)

๕.การพัฒนากลไกสร้างสุขชุมชนท้องถิ่น (พลเมืองสุขภาพ – คณะกรรมการ/คณะทำงาน – สภาฯ - กองทุนฯ )

ด้วยโจทย์คำถาม สองข้อ

๑)แนวทางวิธีการขับเคลื่อนพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนท้องถิ่นอย่างไร? และ  ๒)จะใช้ช่องทางการสื่อสาร และมีข้อเสนอต่อ สสท. ( ThaiPBS) อย่างไรบ้าง


ช่วงที่ ๖ ทีมวิชาการนำเสนอแนวทางขับเคลื่อน ๕ ประเด็นต่อไป ได้แก่

คุณอรรถพร ตระหง่าน

คุณเรณู ดวงแป้น

คุณชิดสุภางค์ ชำนาญ

คุณธีรนันต์ ปราบราย

คุณวิษณุ ทองแก้ว

โดยสรุปมีแนวทางและข้อเสนอสำคัญ เช่น

การสร้างตระหนักรู้ทางสุขภาพและร่วมกันจัดการขับเคลื่อนงานอาชีวอนามัย:การเกษตรปลอดสารอาหารปลอดภัยโดยองค์กรต่างๆในพื้นที่ พร้อมผลักดันมาตรการเลิกใช้พาราควอตไกลโกเสท ฯ ครอบครัวต้องตระหนักดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุทั้งทางกายทางใจ และชุมชนท้องถิ่นต้องส่งเสริมให้ใช้พลังผู้สูงอายุดูแลซึ่งกันและกันในรูปแบบต่าง ๆ

การสร้างความตระหนักรู้ทางสุขภาพ ร่วมและเร่งจัดการโรคเรื้อรังอันเป็นภาระของค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของครัวเรือน รวมทั้งการมีสื่อสำหรับเด็กเยาวชนพฤติกรรมการเกิดโรคอ้วน ทุกภาคีหุ้นส่วนร่วมจัดการปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพทั้งอบายมุขเหล้า –บุหรี่ และท้องถิ่นร่วมกันเสริมสร้างอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งขยะและอุบัติเหตุในชุมชน

ท้ายสุดคือทุกภาคีเครือข่ายต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกการสร้างสุขชุมชน มากกว่ากิจกรรมอีเว้นท์ ทั้งการพัฒนาศักยภาพสู่ความเป็นพลเมืองผู้รอบรู้ทางสุขภาพ หนุนเสริมพัฒนาคณะทำงานหรือคณะกรรมการ สภาผู้นำ กองทุน ที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงเป็นระบบ และสรุปเวที โดยนายอำเภอท่าแซะ


๕.ผลลัพธ์ที่เกิดจากเวทีนี้ คือ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเกือบสองแสนบาท เป็นของคนในชุมชนท้องถิ่นเนินสันติ และกระตุ้น ความตระหนักต่อการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก ได้บทเรียนเพื่อไปพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนท้องถิ่น แนวทางการสร้างโครงข่ายสื่อสารสาธารณะทั้งในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ขอบคุณทนายสิขิต ศรีชาติ ที่ขันอาสาเดินต่อเรื่องนี้) และโครงข่ายภาคประชาสังคมผ่านกลไกสมัชชาสุขภาพชุมพร ซึ่งจะเดินควบคู่กันไป สำคัญยิ่งการเปลี่ยนมุมมองการจัดการเรียนรู้มิใช่ในห้องประชุม แต่ทุกที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ มีคลิปสื่อสั้นประมวลรูปธรรมพื้นที่ใน ๕ ประเด็นเพื่อใช้ในการเผบแพร่ขยายผล


๖.บทเรียนและจังหวะการก้าวต่อไป จากเวทีพบว่า

๑)ทีมเครือข่ายที่เข้าร่วมยังมีจุดอ่อนในการคิดและทำงานเชิงระบบ จึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพความเป็นพลเมืองผู้รอบรู้ทางสุขภาพ ด้วยหลักสูตรการเรียนรู้ ๓ โมดูล ๑.จัดการตนเองด้วยการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ๒.กระบวนการคิดเชิงระบบ (ออตตาว่าชาเตอร์ -ปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ) ๓.การจัดการความรู้และนักกระบวนกร

๒)การผลักดันแนวทางและข้อเสนอการพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนท้องถิ่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเบื้องต้นใช้กลไกคณะทำงานพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น เขต ๑๑ สุราษฎร์ธานี

๓)การประสานความร่วมมือกับภาคียุทธศาสตร์ระดับนโยบายยังต้องใช้แรงผลักดันในหลายช่องทาง รอคอยต่อไป แต่เฉพาะหน้านี้ต้องประสานแนวราบระดับพื้นที่เป็นจริงได้มากกว่า ด้วยต้องใช้คีย์แมนหรือหัวขบวนผู้ทำหน้าที่เชื่อมประสานพลังต่างๆ ในชุมชนท้องถิ่น ๔) การสื่อสารสาธารณะ ต้องเร่งดำเนินการในหลากหลายรูปแบบให้ เท่าทันสถานการณ์สุขภาวะที่เปลี่ยนแปลงและซับซ้อน

ท้ายสุดนี้ต้องขอบคุณทุกกำลัง ทุกภาคส่วนที่ร่วมด้วยช่วยกันให้เวทีนี้สำเร็จไปด้วยดี ขอบคุณทีมประเมินจากคณะพยาบาล มอ.สงขลาที่สะท้อนคิดให้ทีมทำงาน
มวลมิตร คือพลัง ความหวังยังยาวไกล ก้าวไปสู่ระบบสุขภาวะชุมชนท้องถิ่น

บันทึกโดย  ทวีวัตร เครือสายและคณะ

ขอบคุณภาพประทับใจจากภาคีเครือข่ายทุกท่าน

บันทึกไว้เมื่อ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๒

Relate topics