พลังสามัคคีชุมชนบ้านมอแซง ต.ปล่องหอย อ.กะพ้อ จ.ปัตตานีร่วมฝ่าฟันวิกฤติโควิด19

  • photo  , 960x720 pixel , 173,680 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 121,717 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 134,082 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 131,017 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 143,283 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 124,642 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 129,789 bytes.

พลังสามัคคีชุมชนบ้านมอแซง ต.ปล่องหอย อ.กะพ้อ จ.ปัตตานีร่วมฝ่าฟันวิกฤติโควิด19

ได้ยินเรื่องราวพลังสามัคคีของชุมชนบ้านมอแซง ต.ปล่องหอย อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ในการฝ่าฟันวิกฤติโควิด 19 และช่วงรอมฎอน มาได้อย่างสวยงาม

เมื่อวันที่  11 มิถุนายน 2563  ฤกษ์งามยามดี ทุกอย่างลงตัว จึงได้ลงไปเยี่ยมเยียนและรับฟังความสำเร็จของชุมชนด้วยตัวเองพร้อมกับเมาะและทีมงานของ กภส.ฯ ทุกคนพร้อมรอรับคณะของเราอยู่ที่โรงเรียนบ้านมือลอ

เมื่อแนะนำตัวกันเรียบร้อย  ตัวแทนชุมชนเล่าให้ฟังว่า

เริ่มจากเมื่อมีการระบาดของโควิด 19 หนักขึ้น คนในพื้นที่ไม่มีงานทำ  หมู่บ้านถูกปิด ออกไปไหนไม่ได้และจะเข้าช่วงรอมฎอนด้วย ในหมู่บ้าน มีทั้งเด็กกำพร้า ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง คนที่ได้รับผลกระทบ  แล้วจะทำอย่างไรกันดี

เร่ิ่มต้นผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยกันทำอาหารแจก โดยใช้เงินที่ได้จากการบริจาคของผู้ที่พอมีในหมู่บ้านจำนวน 5,000 บาท และใช้การรับซื้อวัตถุดิบจากชาวบ้านในหมู่บ้านเอง ซึ่งต่อๆ มา ก็มีชาวบ้านนำมาสมทบโดยไม่ต้องซื้อ ใครปลูกผัก ให้ผัก ใครมีมะนาว ให้มะนาว ใครมีร้านขายของ นำของในร้านมาให้ ใครไม่มีอะไรเลย นำแรงตัวเองมาช่วย

เมื่อเงิน 5,000 บาทใกล้หมด ต้องวางแผนใหม่

เริ่มมีการแบ่งโซนในหมู่บ้านออกเป็น 3 โซน  ผลัดแจกอาหารวันละโซน

วันที่ 1 แจกโซน 1 โซน 2 & 3  รอก่อนนะ

วันที่ 2 แจกโซน 2  โซน 1 & 3 รอนะ

แต่ที่ได้รับแจกทุกวัน คือ  เด็กกำพร้า ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง

สถานที่ทำอาหาร ก็ใช้ครัวของโรงเรียนในหมู่บ้านและใช้อุปกรณ์ของโรงเรียนด้วย สะดวกในการบริหารจัดการพื้นที่

ส่วนกระบวนการแจกอาหารให้แก่ผู้คนในชุมชน อาศัยเด็กนักเรียนที่เพิ่งจบ ป.6 ของโรงเรียน มาช่วยแจกตามบ้าน  แต่งานนี้มีเทคนิคค่ะ ผู้อำนวยการโรงเรียนมองหานักเรียนที่เคยมีใจอาสาช่วยงานของโรงเรียนมาก่อน  ได้มา 2 คนและหลังจากนั้น 2 คนนี้ก็ชักชวนเพื่อนฝูงมาได้ถึง 13 คน ช่วยกันทำหน้าที่นำส่งอาหารตามบ้าน

จากเงิน 5,000.- ขยายมาเป็นเงินหมื่นได้อย่างไร

ทีมงานคุยกันว่าจะนำเรื่องราวของชุมชนลง fb ดีหรือไม่ เพราะบางเสียงก็เกรงว่าจะดูเป็นการโอ้อวดตัวเอง แต่บางเสียงบอกว่า การบอกเล่าใน fb เพื่อต้องการให้เห็นว่าใครๆ หรือชุมชนไหนๆ ก็สามารถทำแบบนี้ได้  สุดท้าย ก็มีการเล่าสู่กันทราบใน FB

ผลที่ตามมา คือมีกลุ่มต่างๆ บริจาคเงินเข้ามาช่วยอยู่เรื่อย ๆ เป็นระยะๆ ทำให้สามารถทำอาหารแจกที่ดีขึ้นได้ และขยายเป้าหมายออกไปได้ และยังต่อเนื่องได้จนจบรอมฎอน...คือมีคนอิ่มได้มากขึ้น ด้วยคุณภาพอาหารที่ดีขึ้น และยาวนานมากขึ้น

ก๊ะ ตัวแทนชุมชนคนนึงเล่าให้ฟังว่าแรกๆ สับสนวุ่นวาย เพราะเป็นทั้งคนรับเงิน ถือเงิน ซื้อหาวัตถุดิบมาทำ และมาเป็นแม่ครัวเองอีก

สุดท้ายปรึกษาผู้ใหญ่บ้าน    ผู้ใหญ่บ้านสามารถหาผู้เชี่ยวชาญในหมู่บ้านะมาช่วยกัน และสามารถชี้ได้เลยว่าใครชำนาญอะไร และจะมาช่วยตรงไหนได้  เช่น เรื่องเงินๆ ทองๆ ผู้ใหญ่บ้านมอบให้ก๊ะแวที่เคยทำกองทุนหมู่บ้านมาช่วย

ก๊ะเล่าต่อว่า ทำไปทำมาเห็นได้ชัดเจนว่า งานจะแบ่งเป็น 3 ทีม ได้แก่  ทีมบริหาร / ทีมทำงาน / ทีมสนับสนุน  และสถานการณ์พามาให้แก้ปัญหาออกมาได้ เรียนรู้จากประสบการณ์และการลงมือทำ

อีกเรื่องที่อยากบอกเล่าคือ

โรงเรียนในหมู่บ้านแห่งนี้ ได้รับการติดต่อให้เป็น local quarantine สำหรับผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศด้วย อสม.ที่นี่จึงทำงานกันหนักเพิ่มขึ้น มีผู้เข้ามากักตัวดูอาการที่นี่สะสม 61 คน ต้องสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านพอสมควรทีเดียว

ชุมชนสรุปบทเรียนถึงข้อควรปรับปรุงไว้ด้วย  คุณภาพอาหารในแต่ละวันไม่เท่ากัน ทำให้แต่ละโซนได้รับอาหารที่มีคุณภาพแตกต่างกัน ซึ่งก๊ะบอกว่าเป็นเพราะความเหนื่อย ทำให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ดังนั้นก็เสนอว่าหากมีงานแบบนี้ ต่อเนื่องยาวนาน ต้องมีแม่ครัว 2 ชุด ผลัดไม้กันบ้าง อีกประเด็นคือ การที่ยังไม่สามารถแจกทั้งหมู่บ้านในทุกๆ วัน ซึ่งก๊ะก็บอกอีกว่า รู้สึกผิดอย่างมาก

แผนงานต่อไปในอนาคตของหมู่บ้านนี้/ชุมชนนี้ คือ

1)การทำอาหารแจกในช่วงรอมฏอนปีหน้า และปีต่อๆ ไป  และจะทำแจกให้ทั่วถึงทั้งหมู่บ้าน

2)การพัฒนาอาชีพ สร้างเป็นวิสาหกิจชุมชน เพราะวิกฤตนี้ ทำให้เห็นชัดเจนแล้วว่า ใครเก่งอะไรกันบ้าง

3)การส่งเสริมการเกษตร ปลูกผัก เพาะเห็ด เตรียมเป็นครัวของหมู่บ้านได้เลย

ทีมงานบอกว่า ต้องขอบคุณโควิด ที่ทำให้ได้เห็นศักยภาพของชุมชนตนเอง

บทเรียนของหน่วยงานภายนอก

1.เห็นความเป็นผู้นำของผู้ใหญ่บ้านอย่างชัดเจน และเราเชื่อว่าผู้ใหญ่บ้านต้องเป็นคนทำงานจริง ถึงรู้จักลูกบ้านของตนอย่างดี จนสามารถรู้ว่าใครเก่งอะไรกันบ้าง และสามารถดึงมาช่วยงานได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา และถูกใจ

2.เห็นจิตใจของชุมชนที่ผนึกกำลังสู้กับวิกฤตอย่างไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค อย่างไม่งอมืองอเท้า อย่างไม่เรียกร้องขอแต่ความช่วยเหลือจากภายนอก  ชาวบ้านผนึกกำลัง และพิสูจน์ความดีงามที่ตนเองทำจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของคนนอก ทำให้พลังความช่วยเหลือต่างๆ เดินเข้ามาหาอย่างไม่ขาดสาย

3.เห็นทักษะการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และร่วมแก้ไขกันไปที่ละเปลาะ ทีละเรื่อง  Action learning / learning by doing

และที่สำคัญ เห็นความสวยงามของผู้คน ของชุมชน ที่อยากขยายต่อ อยากบอกออกไปมากๆ  อยากหาทางสนับสนุนเยอะๆ

มาติดตามกันต่อไปกับชุมชนแห่งนี้ด้วยกันค่ะ

ปาตีเมาะ  เปาะอิแตดาโอะ  สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ  รายงาน

Relate topics