ชวนเที่ยว ‘ตลาดต้นไม้ชายคลอง’ พัทลุง

  • photo  , 960x640 pixel , 75,784 bytes.
  • photo  , 1000x751 pixel , 211,698 bytes.
  • photo  , 1000x751 pixel , 180,812 bytes.
  • photo  , 960x640 pixel , 117,482 bytes.
  • photo  , 960x640 pixel , 58,464 bytes.
  • photo  , 960x640 pixel , 104,202 bytes.

ชวนเที่ยว ‘ตลาดต้นไม้ชายคลอง’

แตกต่างด้วยอัตลักษณ์ ต้นแบบจัดการตลาดเกษตรเพื่อชุมชน

‘ตลาดต้นไม้ชายคลอง’ ต้นแบบการจัดการตลาดเกษตรที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้ผลิต-ผู้บริโภค ช่วยรวมกลุ่มเกษตรกร ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ขายความต่าง สร้างสรรค์อัตลักษณ์ หวังขับเคลื่อนประเด็นเกษตรและอาหาร สู่ภาคใต้แห่งความสุขร่วมกัน

ณ ตลาดต้นไม้ชายคลอง อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง สถาบันนโยบายสาธารณะและภาคีเครือข่าย จัดเวทีเครือข่ายเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาพภาคใต้เรื่อง “การจัดการตลาดผ่านบทเรียนตลาดต้นไม้ชายคลอง” โดยมีนายกฤตย พวงสุวรรณ (โต้ง พันธุ์ไม้) ผู้จัดการตลาดต้นไม้ชายคลอง นายบุญสนิท เพชรเรือง และนางสาวสุมณฑา ทองนาคขาว ตัวแทนกลุ่ม ผู้ผลิต/แม่ค้าพ่อค้าในตลาด และ ดร.นันทิยา พรมจันทร์ ตัวแทนนักวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมเสวนา ดำเนินรายการ โดย นายอานนท์ มีศรี สมาคมสื่อชุมชนภาคใต้ เมื่อ 3 ตุลาคม 63


กว่าจะเป็นตลาดต้นไม้ชายคลอง


ก่อนมาเป็นตลาด “คุณโต้ง พันธุ์ไม้” เป็นผู้ผลิตกล้าไม้ป่าที่ใหญ่สุดในภาคใต้ รับจ้างปลูกป่าให้ภาครัฐและเอกชน ต่อมาช่วงปี 2561 เริ่มดำเนินงาน “ตลาดต้นไม้ชายคลอง” มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ ด้วยเงินทุนส่วนตัว ความชอบและรสนิยมส่วนตัว เน้นความแตกต่างอันมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว และชูจุดเด่นความเป็นตลาดต้นไม้ พัฒนาให้มีความน่าสนใจรองรับนักท่องเที่ยวแนวกรีน

“ตั้งใจให้เป็นตลาดแห่งความสุขของนักท่องเที่ยวครอบครัว ตอบสนองความต้องการทุกเพศวัย ทั้งกลุ่มผู้ชายที่สนใจต้นไม้ ร้านอาหาร ผลิตภัณฑ์จักสาน งานแฮนด์เมดซึ่งถูกใจกลุ่มผู้หญิง มีโรงนวดผ่อนคลายบริการผู้สูงอายุ และสำหรับเด็กๆ ต้องห้ามพลาดเครื่องเล่นที่ออกแบบพิเศษ ใช้แรงคนในการเคลื่อน ไม่ใช่แบบสำเร็จรูป ที่มีเพียงชิ้นเดียวในเมืองไทยทั้ง 5 ฐาน ให้ลองเล่นอย่างสนุกสนานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” คุณโต้ง กล่าว

เริ่มแรกจึงทำโครงสร้างพื้นฐานของตลาดในพื้นที่สวนติดถนน เมื่อพ่อค้าแม่ค้าผ่านไปมาก็ให้ความสนใจเข้ามาสอบถามพูดคุยกันและเข้ามามีส่วนร่วม โดยตลาดเปิดทุกวันเสาร์อาทิตย์ (เดือนละ 8 ครั้ง) คิดค่าเช่าแผงเดือนละ 1,000 บาท

“มากกว่าความเป็นตลาด ที่นี่ลูกค้าได้กินของอร่อย ด้วยบรรยากาศเอื้อให้ลูกค้าทุกวัยมาเที่ยว มีมุมกิจกรรมตอบสนองทุกเพศ ด้วยบรรยากาศ ร่มรื่น โปร่ง สบาย เป็นเสน่ห์ของตลาดเรา เป็นสถานที่เหมาะกับการพักผ่อนในวันหยุด” คุณโต้ง กล่าว

นางสาวสุมณฑา ทองนาคขาว วิสาหกิจชุมชนลูกหยีสามรสบ้านห้วยไม้ไผ่ เป็นร้านแรกๆ เข้ามาติดต่อ โดยเปิดเป็นร้านจำหน่ายผลไม้แปรรูป ได้แก่ ลูกหยีกวน กล้วยฉาบ กล้วยตาก

“ก่อนเข้ามาตรงนี้เรามีทีมแปรรูปผลผลิต (ลูกหยี) อยู่ก่อนแล้ว พบจุดด้อยว่าไม่มีโอกาสในการโปรโมทสินค้า การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตลาดทำให้สามารถโปรโมทกลุ่มและสินค้าได้ จากเดิมมีสินค้าเป็นลูกหยีอย่างเดียว ก็ขยายไปแปรรูปกล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมเพิ่ม ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มขึ้น”  นางสาวสุมณฑา กล่าว
นอกจากนี้ได้ร่วมกับเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารภาคใต้ด้วย เพราะทางกลุ่มสามารถผลิตสินค้าเอง แปรรูป สร้างมูลค่าสินค้า และมีการรับรองแบบมีส่วนร่วม มีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ได้ส่งเสริมการปลูกกล้วยในชุมชน ได้ใช้ลูกหยีจากป่าพะยอมแท้ มีผลิตภัณฑ์หลากหลายและเพียงพอต่อการป้อนตลาด

จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทางกลุ่มไม่ได้รับผลกระทบนักเพราะผลิตตามออเดอร์และผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อการขายที่ตลาดต้นไม้ชายคลอง รวมทั้ง การพลิกเข้าสู่การขายออนไลน์เต็มตัว (เพราะตลาดปิด) พบว่า ยอดขายเติบโตขึ้นจึงทำมาต่อเนื่อง โดยรายได้แบ่งในสมาชิกกลุ่มที่ร่วมทำงานแต่ละช่วง

นายบุญสนิท เพชรเรือง เจ้าของสวนสละอินทรีย์ “สวนสำเร็จริเวอร์ไซต์” กล่าวว่า ทางกลุ่มวิสาหกิจต้นน้ำคลองเกาะเต่าก็เป็นทีมงานแรกๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับตลาดต้นไม้ เพราะนอกจากสวนสละแล้วในกลุ่มยังมีสวนผลไม้อื่นๆ และโฮมสเตย์อีกด้วย รวมทั้ง มีส่วนร่วมทำกิจกรรมต่างๆ กันก่อนแล้ว เช่น จัดงานปั่นจักรยาน และได้มาเปิดร้านในตลาดเพื่อเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าจากสวน

“เป็นชอบปลูกต้นไม้ ชอบทำสวนอยู่แล้ว ที่สวนปลูกผลไม้หลายชนิดแต่มีสละเป็นตัวหลัก เริ่มต้นปลูกเมื่อปี 2556 จำนวน 22 ไร่ ก่อนหน้านี้เคยปลูกทุเรียนหมอนทอง 400 ต้น แต่ไม่ถนัดเรื่องใช้สารเคมี เกิดปัญหาโรคทุเรียนมากและราคาก็ไม่จูงใจจึงเลิกไป สละเป็นพืชให้ผลผลิตทั้งปี มีรายได้ทั้งปี ในขณะที่พืชอื่นๆ ออกแค่ปีละครั้ง เราผสมดอกทุกวัน ดอกบานทุกวัน เน้นพันธุ์สุมาลีเป็นส่วนใหญ่ และมีพันธุ์เนินวงศ์บ้าง” นายบุญสนิท กล่าว

ระยะเวลาให้ผลหลังปลูกได้สองปีก็เริ่มแทงช่อดอก อีกแปดเดือนก็ผสม ปีที่สามก็ได้กินได้ขาย แต่คุณภาพช่วงแรกยังไม่เท่าไหร่ คุณภาพที่ไม่ผ่านจริงๆ ก็ตัดทิ้ง เพื่อให้ได้สินค้าอาหารให้ลูกค้าได้กินของที่ดีที่สุด ตอนนี้มีแรงงานผสมดอก 1 คน แรงงานตัดแต่ง 4 ไร่ต่อ 1 คน ช่วยให้คนในชุมชนหลายๆ ครอบครัวมีรายได้ มีงานทำ ปัจจุบันทางสวนสละมีรายได้วันละ 4,000-5,000 ขายได้เดือนละ 2-3 ตัน กิโลกรัมละ 70 บาท การมาร่วมกับตลาดต้นไม้ชายคลองทำให้เพิ่มโอกาสการขายมากยิ่งขึ้น


แผนยกระดับขยับจังหวะก้าว


นายกฤตย พวงสุวรรณ กล่าวว่า ทางตลาดมีแผนขยายพื้นที่บริเวณป่าเป็นชั้นสองความสูงระดับเรือนยอดต้นไม้ ทำเป็นคาเฟ่และแสดงงานศิลปะ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสเสน่ห์ของตลาด โดยยังไม่มีแผนเพิ่มปริมาณร้านค้าเพราะเท่าที่มีเพียงพอแล้ว

สำหรับต้นไม้ป่าซึ่งเป็นรายได้หลัก ที่ผ่านมาขายได้ปีละ 2-3 แสนต้น (แบ่งเป็นต้นไม้เพาะเอง 70% จำนวน 2 แสนต้น และนำเข้าจากภาคเหนือและอีสาน จำนวน 1 แสนต้น) และวางแผนว่าภายในปี 2565 จะสามารถผลิตกล้าไม้ได้ครบ 1 ล้านต้นหลังจากทำมา 9 ปี นอกจากนี้ มีแผนกระจายการจำหน่ายกล้าไม้บรรทุกรถขนส่งตรงถึงหน้าบ้านลูกค้า
“เราเริ่มต้นด้วยทุนส่วนตัวทั้งหมด จากการขายต้นไม้ป่า พึ่งตัวเองเป็นหลักไม่หวังพึ่งภาครัฐ ทำแล้วขยับขยายไปทีละจุดๆ ตามลำดับ จนคนที่เข้ามาร่วมเริ่มเชื่อมั่นและเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ตอนนี้มีความฝันต่อ คือ อยากให้หมู่บ้านผลิตกล้าไม้ส่งขายทั้งหมด เพราะด้วยศักยภาพที่ตั้งของพัทลุงเป็นพื้นที่ตรงกลางของภาคใต้ทั้งใต้บนใต้ล่างจึงเป็นศักยภาพที่พร้อมและมีความเป็นไปได้สูง” นายกฤตย กล่าว

นางสาวสุมณฑา ทองนาคขาว กล่าวว่า แผนอนาคตทางกลุ่มจะปรับปรุงมาตรฐานด้าน อย. โดยตั้งเป้าปี 2564 ต้องผ่านการรับรอง อย. แต่ยังติดเรื่องงบประมาณการต่อเติม ตอนนี้ได้ GMP ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันอาหาร และ BGS เรื่องมาตรฐานการปลูก คิดว่าจะเข้าไปร่วมกับ สำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน เพื่อยกระดับไปสู่ อย. ต่อไป

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาทางกลุ่มร่วมกับหน่วยงานราชการและท้องถิ่นมาโดยตลอด เช่น ผู้บริหาร อบต. คลองเกาะเต่า หมู่ที่ 12 ก็สนับสนุนทั้งเรื่องการโปรโมทแหล่งท่องเที่ยว ให้งบกู้ยืม รวมทั้ง ร่วมทำ MOU กับพลังงานจังหวัดพัทลุงสนับสนุนเตาอบพลังงานแสงอาทิตย์

นายบุญสนิท เพชรเรือง กล่าวว่า ในอนาคตสวนสละจะเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น จากเดิมมีแค่สละลอยแก้ว อาจมีน้ำสละ แยมสละ เป็นผลผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มีแนวคิดพัฒนาพื้นที่สวนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชุมชน และมีบุฟเฟ่ผลไม้ตามฤดูกาลด้วย ราคาหัวละ 425 บาท (บวกมื้ออาหารทั้งวัน) และการฝึกให้ลูกสาวเข้ามารับช่วงกิจการต่อด้วย


จิกซอว์วิชาการหนุนเสริมองค์ความรู้ 


อ.ดร.นันทิยา พนมจันทร์ คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุงดร. ในฐานะนักวิชาการช่วยเหลือชุมชน กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีบทบาททำงานร่วมกับชุมชนมาตลอด ทั้งบริการวิชาการ เช่น ถอดบทเรียน ถ่ายทอดความรู้ใหม่ๆ จัดการเรียนการสอนร่วมกันชุมชน รวมทั้ง ลงพื้นที่เรียนชุมชนรอบข้าง และได้ร่วมกับตลาดต้นไม้ชายคลองโดยโครงการของสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) นวัตกรรมเรื่องสารเคมีเคลือบเมล็ดมาใช้กับพืชป่า เนื่องจากกล้าไม้ป่าเก็บได้ปีละ 1 ครั้ง แต่ออเดอร์มีตลอดทั้งปี และอัตราการเสื่อมของเมล็ดแต่ละชนิดก็ต่างกัน จึงใช้เทคนิคการพอกเคลือบเพื่อยืดระยะเวลาให้มากขึ้น อีกเทคนิคเมล็ดพันธุ์พอก สามารถส่งเสริมให้อุทยานให้นักท่องเที่ยวไปปลูกในธรรมชาติได้ ง่ายต่อการพกพา ยืดอายุการรักษาเมล็ดพันธุ์ และสร้างจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยว

สำหรับการผลักดันนโยบาย และการพัฒนาเพื่อให้ได้รับรองมาตรฐานตามกฎหมายนั้น มหาวิทยาลัยทักษิณมีสำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน มีศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) เพื่อเป็นแหล่งบริการเกษตรกรที่รวบรวมองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร สามารถนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปใช้พัฒนาต่อยอดการผลิต สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และให้สินค้ามีคุณภาพและมาตรฐาน มีการจัดตั้งศูนย์ตรวจสารเคมีร่วมกับจังหวัดพัทลุง เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรในการตรวจสอบสารเคมีในพืชผัก ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยพยายามให้ความร่วมมือกับเกษตรกรที่ต้องการยกระดับตัวเองและสร้างความเขื่อมั่นให้ผู้บริโภค
มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ถือเป็นจิกซอว์ที่เข้ามาเพื่อเติมเต็มให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นภาคส่วนวิชาการที่ทำงานร่วมกับชุมชน มุ่งขยายไปทั่วประเทศและหวังสู่สากลต่อไป สนับสนุนให้เครือข่ายเกษตรกรมีองค์ความรู้มากขึ้น ขับเคลื่อนสู่ภาคใต้แห่งความสุขร่วมกัน

นายทวีวัตร เครือสาย นายกสมาคมประชาสังคมจังหวัดชุมพร กล่าวว่า การก้าวไปข้างหน้าให้ถึง 4.0 ต้องเริ่มที่ปลูกได้ ขายเป็น ไม่เช่นนั้นเราก็ยังเป็นเกษตรกรผู้ผลิตราคาถูก ต้องพัฒนาให้เป็นผู้บริหารจัดการตั้งแต่ผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคไปพร้อมกัน ตรงนี้สำคัญ การขับเคลื่อนเกษตรและอาหารภาคใต้ ก็เน้นเรื่องการจัดการตลาดเกษตร จากรูปแบบของตลาดต้นไม้ชายคลอง ซึ่งใช้ต้นทุนของตัวเองค่อยๆ เติมความฝันให้กระจ่างชัดมากขึ้น หรือการขับเคลื่อนโดยรัฐบาลผ่านศูนย์ AIC ก็ได้เห็นพลังที่เป็นรูปธรรม ที่เป็นมากกว่าเกษตรกรยุคใหม่ โดยเฉพาะในจังหวัดพัทลุงที่มีศักยภาพ มีกำลังคนรุ่นใหม่จำนวนมากเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายขับเคลื่อนระดับจังหวัด คิดว่าบทเรียนรูปธรรมระดับพื้นที่วันนี้จะนำไปสู่การขยายผลต่อในระดับภาคใต้ต่อไป

นายอานนท์ มีศรี กล่าวสรุปว่า การขับเคลื่อนภาคใต้แห่งความสุข เราต้องการทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน หนุนเสริมกันเป็นจิกซอว์ ทำอย่างไรให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโดยที่ไม่ปฏิเสธภูมิปัญญาดั้งเดิม รวมทุกคนเข้ามาโดยไม่มีใครถูกปฏิเสธหรือถูกทิ้ง แม้มีวิกฤติก็ผ่านได้ด้วยการร่วมมือกัน ทำสิ่งที่ดีๆ ให้เกิดขึ้นในชุมขน โดยทีมวิชาการและทีมสื่อเป็นโซ่ข้อกลางคอยเชื่อมโยง


เนื้อหา : มารียา

ภาพ : อุบัย / กฤตย พวงสุวรรณ

Relate topics