สมัชชาสุขภาพจังหวัดตรัง เปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์-อุดมการณ์ การทำงานจากรุ่นสู่รุ่น มุ่งขับเคลื่อน “ ตรังแห่งความสุข” อย่างเท่าเทียม

  • photo  , 1000x750 pixel , 181,593 bytes.
  • photo  , 1000x750 pixel , 187,971 bytes.
  • photo  , 1000x750 pixel , 147,679 bytes.
  • photo  , 1000x1333 pixel , 265,696 bytes.
  • photo  , 1080x608 pixel , 91,014 bytes.
  • photo  , 1000x750 pixel , 202,472 bytes.
  • photo  , 1080x608 pixel , 71,797 bytes.
  • photo  , 1080x1440 pixel , 148,350 bytes.
  • photo  , 1080x811 pixel , 99,295 bytes.
  • photo  , 1080x608 pixel , 79,672 bytes.
  • photo  , 1080x608 pixel , 108,000 bytes.
  • photo  , 1080x606 pixel , 81,542 bytes.
  • photo  , 1477x1108 pixel , 176,899 bytes.
  • photo  , 2048x1152 pixel , 195,340 bytes.
  • photo  , 1080x606 pixel , 83,612 bytes.
  • photo  , 1000x1776 pixel , 341,085 bytes.
  • photo  , 1000x563 pixel , 132,208 bytes.
  • photo  , 1000x563 pixel , 190,413 bytes.
  • photo  , 1000x750 pixel , 225,218 bytes.
  • photo  , 1108x1477 pixel , 139,563 bytes.
  • photo  , 1000x750 pixel , 119,628 bytes.
  • photo  , 1477x1108 pixel , 193,896 bytes.
  • photo  , 1477x1108 pixel , 194,617 bytes.
  • photo  , 1108x1477 pixel , 112,908 bytes.

สมัชชาสุขภาพจังหวัดตรัง เปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์-อุดมการณ์  การทำงานจากรุ่นสู่รุ่น มุ่งขับเคลื่อน “ ตรังแห่งความสุข” อย่างเท่าเทียม สงบสุข ไม่แบ่งแยก เพศ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 26-28 เมษายน 2567  นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ลงพื้นที่เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการยกระดับศักยภาพคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดตรัง ณ ลิบงแคมป์รีสอร์ท ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จังหวัดตรัง

โดยกิจกรรมถูกออกแบบให้มีทั้งการลงพื้นที่ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง การประชุมกลุ่มพูดคุย เปิดมุมมอง ให้ความสำคัญผู้เข้าร่วมในการเปิดใจแลกเปลี่ยน  ด้วยสุนทรียสนทนา กระตุกความรู้สึก กระตุ้นจิตสำนึกหวงแหนรักถิ่นฐานบ้านเกิด  ส่งผ่านความรู้สึก ประสบการณ์ อุดมการณ์  การทำงานจากรุ่นสู่รุ่น  และเปิดโอกาส สะท้อนมุมมอง ความเข้าใจของเยาวชนคนรุ่นใหม่ต่อการทำงานด้านสังคมจิตอาสา ให้เกิดการสร้างสนามพลังร่วมกันของผู้เข้าร่วม และคาดหวังให้เป็นสะพานใจเชื่อมทางจิตวิญญาณการสานพลังระหว่างแกนนำผู้มากประสบการณ์ นักพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่ผู้มีความแน่วแน่ แกนนำเยาวชนที่สนใจในงานชุมชน ที่มีความแตกต่างหลากหลายกว่า 40 ชีวิต เพื่อเติบโตไปเป็นฟันเฟืองหนึ่ง เพื่อร่วมขับเคลื่อน “ตรังแห่งความสุข” อย่างเท่าเทียม สงบสุข ไม่แบ่งแยก เพศ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ภายใต้หลักคิด ตรังหนึ่งเดียวกัน

ในตลอดระยะเวลาสามวันสองคืน มีกิจกรรมที่หลากหลายนำมาจัดเรียงไว้อย่างเข้มข้น  ได้แก่ การเรียนรู้จากธรรมชาติรอบตัว ฝึกธรรมมะในวิถีชาวพุทธ  กิจกรรมบอกเล่า ส่งต่อ เพื่อสืบทอด มรดกทางการขับเคลื่อนชุมชนจากแกนนำประชาสังคมคนตรัง  การเรียนรู้  ฝึกฝน การพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจากพื้นฐานการเคลื่อนไหวทางสังคมตามบริบทพื้นฐาน ความรู้ ข้อเท็จจริงผ่านการเรียนรู้จากสถานที่จริง  กิจกรรมการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพประเด็นรองรับสังคมสูงวัย  โดยการตั้งโจทย์ร่วมของปัญหาในสภาวะเมื่อตรังเข้าสู่สังคมสูงวัยเพื่อร้อยรัดผูกจิต ถักทอใจ สานสายใย หุกกลุ่มวัย สู่ตรังยั่งยืน เพื่อให้คน จ.ตรังเข้าใจว่าหาใช่แต่เพียงสังคมผู้สูงอายุและเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด การลงพื้นที่สัมผัสและสำรวจแหล่งหญ้าทะเล และฝึกการคิด เขียน และนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศแหล่งหญ้าทะเลและผลกระทบ ซึ่งถือเป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ของทะเลอันดามัน แหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ทะเลนานาชนิด ทั้งขนาดเล็ก และสัตว์ทะเลขนาดใหญ่อย่างพะยูน และเต่าทะเล รวมทั้งเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์ ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ซึ่ง จ.ตรัง  กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์การการรับรู้ ชื่นชม คุณค่า การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ข้าวเบายอดม่วง ความภูมิใจของคนตรัง ทั้งคุณค่าทางโภชนาการ ทางพันธุกรรม และภูมิปัญญาของคนตรัง

ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากกระบวนการสมัชชาสุขภาพพื้นที่ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหาร จากข้อเสนอการอนุรักษ์  ฟื้นฟูภูมิปัญญาพันธุกรรมข้าว ขยายพื้นที่ทำนา และต่อยอดการขับเคลื่อนในประเด็นสุขภาวะคนตรังยั่งยืนด้วยการดูแลนาข้าว สมัชชาตรังหลายปีที่ผ่านมา และกิจกรรมฐานเรียนรู้การขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็งในวิถีพหุวัฒนธรรมคนลิบง สังคม ปัญญา ใน ชุมชนต.เกาะลิบง : ฐาน 1 มัสยิดบ้านหาดทรายแก้ว ฐาน 2 ประมงพื้นบ้าน ฐาน 3 การแปรรูปอาหารทะเล ฐาน 4 การจัดการขยะชุมชน

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ สช. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ


พัฒนาศักยภาพแกนนำรุ่นใหม่ ค่ายสามวัยทีมสมัชชาสุขภาพตรังที่เกาะลิบง  “3 วัน 2 คืน กับแว่นที่เปลี่ยนไป”

เกาะลิบง  เกาะที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดตรัง คือ หมุดหมายพื้นที่ในการสร้างการเรียนรู้ของทีมสมัชชาสุขภาพจังหวัดตรัง กับประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดตรังเตรียมความพร้อมในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพประเด็นรองรับสังคมสูงวัย ระหว่าง วันที่ 27 -29 เมษายน 2567 ณ ลิบงแคมป์  จ.ตรัง ในคราวครั้งนี้

คนสามวัยคืนส่วนผสมที่ถูกออกแบบไว้สำหรับเป็นกลุ่มเป้าหมายในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน

รุ่นใหญ่ คือ พี่ ๆ ทั้งภาคประชาสังคม อาทิ จากสมาคมประชาสังคมตรัง  ภาคราชการ อาทิ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ภาควิชาการ จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีตรัง ที่รู้จักเครื่องมือสมัชชาสุขภาพตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2551  มีส่วนร่วมในการมี “ฉันทามติ”ครั้งแรกของจังหวัดตรังผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดตรังครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2553  สมัชชาสุขภาพจังหวัดครั้งที่ 2 ใน ปี 2557 และสมัชชาสุขภาพจังหวัดตรังครั้งที่ 3 ใน ปี พ.ศ.2564

รุ่นกลาง คือ พี่ ๆ จากภาคประชาสังคม ภาคราชการ อาทิ จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง  ภาควิชาการ โครงการพระราชดำริฯ แหลมผักเบี้ย ศูนย์ภาคใต้ ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดตรัง เคยผ่านกระบวนการการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในห้วงเวลาที่ผ่านมา อาทิ การขับเคลื่อนมติสุขภาวะคนตรังยั่งยืนด้วยการดูแลนาข้าว เป็นต้น

รุ่นใหม่ คือ ทั้งพี่ ๆ น้อง ๆจากทั้งหน่วยงานราชการครั้งนี้มาจากสำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนร่วมถิ่น  ภาคท้องถิ่น มีเจ้าหน้าที่จากเทศบาลนครตรัง เทศบาลตำบลโคกหล่อ เทศบาลตำบลท่าพญา และอบต.บ่อหิน  ภาควิชาการ อาจารย์จาก ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ที่เพิ่งรู้จักสมัชชาสุขภาพ และบางส่วนก็ยังไม่รู้จักสมัชชาสุขภาพ และน้อง ๆแกนนำเยาวชนจากโรงเรียนวิเชียรมาตุ 1 และ 3 โรงเรียนสภาราชินี และโรงเรียนตรังรังสฤษฏ์  และพระคุณเจ้า และสามเณรจากวัดประสิทธิชัย

นอกจากนี้ก็มีผู้ใหญ่ใจดี น.พ.อภิชาติ รอดสม หรือ หมอมังคุด  รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มาร่วมเรียนรู้และเสริมแรงเพิ่มกำลังใจ
“ธรรมชาติ-ชุมชน-สังคมสูงวัย” คือ  เนื้อหาที่ชวนกันเรียนรู้ในช่วงระยะเวลา 3 วัน 2 คืน

อะไรเกิดขึ้นกับค่ายครั้งนี้  ทำไม"แว่น"ของหลาย ๆ คนเปลี่ยนไปชวนติดตามไปด้วยกันครับ


แรกพบ – รับฟัง -สังคมสูงวัย

“แรกพบ”

ประมาณบ่าย 3 หลังจากรถซาเล้งทยอยพาพวกเราจากท่าเรือบ้านพร้าวมาถึงลิบงแคมป์ หมุดหมายพื้นที่ชวนกันสร้างการเรียนรู้ในครั้งนี้ สัมผัสสายลม และพลังธรรมชาติที่นี่กับอากาศสบายกว่าบนฝั่งอย่างชัดเจน

เสียงกระดิ่งดังขึ้น สัญญาณชวนพวกเราไปยังศาลาด้านหน้าที่ติดชายหาด พี่บุ๋ม สุวณี สมาธิ จับไมด์ทำหน้าที่แนะนำสมาชิกซึ่งมากันหลากหลาย ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง และรุ่นใหม่มีมาจากภาคประชาสังคม ภาคราชการ ภาคท้องถิ่น ข้าราชการเกษียณ และเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ในจังหวัดตรัง

คุณหมออภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผู้ใหญ่ใจดีที่มาร่วมเรียนรู้กับเราก็ได้มาพบสมาชิกและได้แนะนำให้ทุกคนได้รู้จักสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และรู้จักเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม สายตาบวกรอยยิ้ม สำหรับหลายคนที่คุ้นเคยกับการทำงานทีมสมัชชาสุขภาพ ในขณะที่บางแววตาคล้ายจะมีความสงสัย กังวลอยู่

“รับฟัง”

หมอแคทจาก รพ.สต.เกาะลิบง และ บังแอน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทรัพยากรเกาะลิบง  เจ้าบ้านที่มาต้อนรับคณะของพวกเราในชุดแรก

หมอแคทบอกเล่าสภาพทั่วไปของพื้นที่เกาะลิบง และเล่าถึงวิธีคิดวิธีการทำงานในการดูแลสุขภาพประชาชน โดยมีเป้าหมายในการสร้างคน และให้คนไปช่วยกันดูแลสุขภาพคนในชุมชน บุคลากรคนทำงานในระบบบริการสุขภาพบนเกาะ จากขาดแคลนในยุคแรกและเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

ต่อมาก็ได้รับฟังเรื่องราวเกาะลิบงในแง่มุมฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากบังแอน รับฟังเรื่องราวของพะยูนที่กำลังเผชิญวิกฤติหญ้าทะเล ปัญหาการขุดลอกร่องน้ำ การทิ้งตะกอนดิน ทับถมของตะกอนดิน คือ หนึ่งในสาเหตุของปัญหาที่ชาวบ้านเชื่อว่าส่งผลกระทบสำคัญต่อผืนหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เคราะห์ซ้ำกับภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เรียกว่าโลกเดือดในปีนี้ อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นยิ่งทำให้ความเสียหายของหญ้าทะเลรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงได้เห็นภาพพะยูนเสียชีวิตร่างผอมโซ เห็นข่าวพะยูนต้องอพยพจากเกาะลิบงไปหาแหล่งหญ้าทะเลต่างพื้นที่

สีหน้า แววตา ความรู้สึก และต่อมสงสัยเริ่มทำงาน

นอกจากนี้ก็มีดาวุส แกนนำคนรุ่นใหม่บนเกาะที่มาบอกเล่าการทำงานในโครงการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนตำบลเกาะลิบง ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง จนได้รับรางวัลระดับนานาชาติ United Nations Public Service Awards 2022 (UNPSA 2022)

เกือบ 2 ชั่วโมงกับช่วงเวลาอุ่นเครื่องชวนให้เราเข้าใจบริบทพื้นที่เกาะลิบงเพิ่มมากขึ้น ก่อนแยกย้ายกันพักผ่อนตามอัธยาศัย ก็มีกระบวนการแบ่งกลุ่มคละคนคละวัย กันเป็น 4 กลุ่มย่อยเพื่อใช้ในกระบวนการเรียนรู้ในค่ายครั้งนี้
และเพื่อให้ได้บรรยากาศค่ายกลุ่ม 1 จึงมีภารกิจทำกับข้าวมื้อแรกของพวกเรากับเมนูแกงส้ม หมึกผัดดำ และผักเขรียงผัดไข่  ระหว่างนั้นสมาชิกกลุ่มอื่น ๆ ก็ล้อมวงช่วยกันแยกกากข้าวนางขวิดริมชายหาดเพื่อใช้หุงสำหรับหุงข้าวในมื้อต่อไป  และมื้ออาหารในค่ำคืนแรกของผ่านไปได้ด้วยดี ทราบภายหลังว่าม๊ะของพี่ฉัตรมาเป็นตัวช่วยทำให้พวกเราได้กินกันทันเวลา

“สังคมสูงวัย”

ภาคเย็นและค่ำ มีผู้ใหญ่ ม.5 บ้านหลังเขา และกำนันหีมตามมาลงเยี่ยมและร่วมเรียนรู้ไปกับกิจกรรมภาคค่ำของพวกเรา

พวกเราชวนแบ่งกลุ่มกันตามที่แบ่งไว้แล้ว ให้โจทย์เรียนรู้สังคมสูงวัย แลกเปลี่ยนประสบการณ์สังคมสูงวัยที่สัมผัสกันทั้งสามวัย


นกหนีหนาวจากไซบีเรีย  หญ้าทะเล และพะยูน

ตี 4 ครึ่ง เสียงเรียกของพี่ฉัตรตามสัญญาณเวลา ที่เรานัดหมายกันเพื่อออกเดินทางจากที่พักเพื่อลงเรือไปยังแหลมจุโหย ในเขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง  กับเป้าหมายชมนกหนีหนาวจากไซบีเรีย  และรับฟังเรือราวหญ้าทะเล และพะยูน

เมื่อสมาชิกในทีมพร้อมก็ออกเดินทางต่อด้วยรถกระบะ 2 คันในอารมณ์พี่น้องแรงงานพม่าที่นั่งกันเต็มกระบะด้านหลัง

มุ่งหน้าไปท่าเรือบ้านพร้าว  และเดินทางต่อด้วยเรือหางยาวต่อไปยังพิกัดเป้าหมาย

ท้องฟ้ายังไม่สว่าง แต่ยังพอมีแสงดาว  นึกไปในอดีตที่เครื่องไม้เครื่องมือตัวช่วยในการเดินยังไม่ดีเท่าสมัยนี้ ดวงดาวนี้แหละคือแผนที่นำทาง ประมาณ 20 นาที ที่พวกเรามีนั่งหลับตาบ้าง  บ้างทอดสายตาไปยังทิศทางที่เรือแล่นไป บางครั้งก็ก้มดูมือถือบ้าง บ้างยกกล้องขึ้นมาเก็บภาพบรรยากาศ

เราได้รู้จากพี่วิเชียร จากเขตห้ามล่าฯ ว่าจังหวัดตรังมีขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล 3 แปลง คือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม  สำหรับเขตห้ามล่าฯว่า พื้นที่ในการดูแล 200,000 กว่าไร่ มีพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ดูแลกัน 40 กว่าชีวิต นอกจากเรื่องราวทรัพยากรธรรมชาติที่เขตห้ามล่าฯ ก็ยังเคยเป็นที่ถ่ายทำละครจำเลยรัก เวอร์ชั่น อั้ม อภิชาต และ แอฟ ทักษอร ที่มาเก็บตัวถ่ายทำฉากบนเกาะ

เฉดแสงสีส้มที่เส้นขอบฟ้าให้สัญญาณเช้าวันใหม่  อากาศยามเช้า สายลมเย็นอ่อน ๆ

พวกเราสัมผัสน้ำทะเลและผืนทรายจุดแรกที่แหลมจุโหย จุดชมนกอพยพที่สำคัญ พี่วิเชียร ให้ข้อมูลคณะของพวกเราว่านกอพยพจากไซบีเรียทุกปีจะมาถึงที่นี่ประมาณเดือนธันวาคม ระยะเวลาในการมาพักประมาณ 6 เดือน ก็ประมาณเดือนพฤษภาคมก็จะบินกลับ จะมีบ้างนกตัวที่ไม่แข็งแรง ผลัดขนก็จะอยู่พักต่อ สำหรับนกที่พบก็มีนับ 100 สายพันธุ์ ที่นี่จึงเป็นในหนึ่งหมุดหมายสำคัญของนักดูนก

ด้วยความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ การเป็นแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดในประเทศ หญ้าทะเลประเทศไทยมี 13 ชนิด สามารถพบได้ที่เกาะลิบง 12 ชนิด

ที่นี่จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำและกลายแหล่งอาหารที่สำคัญ

แต่สัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับวิกฤติแห่งท้องทะเล  คือการหายไปของแปลงหญ้าทะเล จนเราเห็นภาพข่าวพะยูนตายแบบผอมโซ และการอพยพของพะยูนเพื่อหาแหล่งหญ้าใหม่ที่กระบี่

พื้นทรายสีดำแข็งที่พวกเรากำลังเหยียบอยู่ ครั้งหนึ่งเคยเป็นทรายเลนนุ่ม คนเดินขาจมไปเกือบถึงหัวเข่า แต่วันนี้สภาพแข็งพร้อมจะให้พวกเราเตะฟุตบอลได้ หญ้าคาทะเลที่เคยมีเต็มพื้นที่แต่วันนี้มีหรอมแหรม  หนึ่งในจุดเปลี่ยนที่ เชื่อว่าส่งผลกระทบสำคัญ คือ การดำเนินโครงการขุดลอกร่องน้ำที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552  เพราะทรายเลนจากร่องน้ำถูกนำไปทิ้งในทะเล  และพื้นที่แหลมจุโหยก็เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ตอนนั้น

เสียง อารมณ์ความรู้ แววตา ที่สัมผัสถึงความอัดอั้นของทั้งพี่วิเชียร เขตห้ามล่าฯ และพี่ฉัตร กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง เล่าเรื่องราวนี้ให้คณะของพวกเราฟัง พวกเราพบปลิงทะเล หรือ ดอเทศ หอยชักตีน ลูกปลา ลูกปู สิ่งมีชีวิตที่เราได้เห็นซึ่งสัตว์เหล่านี้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ
พี่วิเชียรแนะนำการดูเพศของหอยชักตีน ถ้าบริเวณปากเปลือกหอยเปลือกบางจะเป็นเพศเมีย เปลือกหนาจะเป็นเพศผู้    และชวนให้พวกรู้จัก ดอเทศ ที่ทำหน้าที่คล้ายเครื่องกรองน้ำ
ความรู้ ข้อมูลหลายอย่างทำให้หลายคนได้เปิดหู เปิดตา

ความคิด คำถามบางอย่างเริ่มผุดขึ้นมา

คณะพวกเรานั่งเรือไปอีกจุดคือ บริเวณหาดสะพานช้าง

พวกเราสังเกตเห็นหญ้าทะเลสีเขียวใบเล็ก ๆ กระจายตัวไปบนหาด ทราบต่อมาว่าพันธุ์นี้คือ หญ้าทะเลพันธุ์ใบมะกรูดใบมะขามซึ่งเป็นหนึ่งในพันธุ์ที่พะยูนชอบกิน
ไม่นานเสียงพี่ฉัตรก็ดังชี้ชวนพวกเราดูร่องรอยของพะยูน เป็นรอยทรายคล้ายการเคลื่อนตัวกว้างประมาณเกือบฟุตและยาว 2-3 เมตร หลาย ๆ รอย  ยิ่งเดินยิ่งพบ พี่ฉัตรแซวว่าเมื่อคืนต้องมี party พะยูนที่นี่แน่ ๆ

เสียงพี่ฉัตร พี่วิเชียร สดใสขึ้นกว่าที่แหลมจุโหย  พี่ฉัตรเล่าว่ามาที่นี่เมื่อเดือนที่แล้วยังไม่มีหญ้ามะขามขึ้นขนาดนี้  เป็นสัญญาณที่ดีมาก ๆ
รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความรู้สึกที่เกิดขึ้น

เมื่อได้เวลาคณะพวกเราเก็บภาพกันเป็นที่ระลึก และเตรียมตัวนั่งเรือกลับตามโปรแกรมที่วางไว้

เชภาดร จันทร์หอม บันทึกเรื่องราว


คณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดตรังจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพคณะทำงานเตรียมความพร้อมในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพประเด็นรองรับสังคมสูงวัย ณ ลิบงแคมป์ เกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง  น้องเชภาดร จันทร์หอมได้บอกเล่ากิจกรรมในภาพรวมไว้เป็นที่สังเขปแล้ว ในคราวนี้จะได้นำเสนอรายละเอียดการพัฒนาศักยภาพเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 16 คน/รูป การพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อให้เห็นความรู้สึกรู้สาทางสังคมที่ตนอาศัยอยู่พร้อมมีบทบาทเข้าร่วมมือตามศักยภาพที่สามารถทำได้นัันยังมีความจำเป็นสำหรับอนาคต...

ในเบื้องต้นการเตรียมการพัฒนาเยาวชนได้นำรูปแบบแนวทางการฝึกอบรมเยาวชนอนุรักษ์สัมพันธ์ตรังมาใช้ ตามแนวคิด ธรรมชาติเป็นครู เรียนรู้ชุมชน ฝึกฝนจากการปฏิบัติจริง โดยเลือกเกาะลิบงเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้เนื่องจากสถานการณ์หญ้าทะเล พะยูนกำลังคุกรุ่น พี่น้องแกนนำอนุรักษ์ในพื้นที่ทุ่มเททำงานอย่างจริงจัง มีกลุ่มเยาวชนที่มีความพร้อมในระดับหนึ่งและที่สำคัญคือมีแกนนำที่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นประเด็นปัญหา มองเห็นโครงสร้างเชิงอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนสิ่งแวดล้อม และสามารถสร้างความรูสึก "เอ๊ะ" เห็นคุณค่าของคนตัวเล็กตัวน้อยในชุมชนให้กับเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้

กิจกรรมในวันแรกไม่พูดพล่ำทำเพลงมาก สุวณี สมาธิ เป็นผู้ดำเนินกระบวนการ เริ่มต้นจากการรับรู้เรื่องราวสถานการณ์บนเกาะลิบงด้วยการฟังอย่างตั้งใจ คนที่ช่วยให้การฟังเกิดคุณค่าสูงสุด คือ บังแอน สะท้อนเรื่องเล่าอันทรงพลังจากการทำงานฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลร่วมกันต่อสู้ปกป้องแนวหญ้าทะเลและพะยูนอย่างเข้าใจตามสภาพธรรมชาติ ประโยคที่ว่า "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" ถูกเปิดเผยออกมา บวกกับการนำเสนอของน้องดาวุส แกนนำเยาวชนในตำบลเกาะลิบงในเรื่องวิสัยทัศน์ก้าวหน้าการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีประโยชน์สูงสุด ประยุกต์เทคโนโลยีมาใช้ในงานอนุรักษ์ การจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านทะเลสำหรับชุมชน เป็นต้น เยาวชนที่รับฟังเรื่องราวเหล่านี้ต่าง "เอ๊ะ" และเกิด Deep Impression ได้โดยไม่ยากนัก ส่งผลให้เกิดการสร้างข้อตกลงกติกาการอยู่ค่ายร่วมกันโดยไม่ต้องนั่งเขียนเป็นกติกาข้อ 1 2 3  แต่อย่างใด ต่อจากนั้นการสลายพฤติกรรมของเยาวชนในกิจกรรมครั้งนี้เลือกกิจกรรม "การเลือกกากเลือกหินออกจากข้าวสารข้าวนางขวิด" ซึ่งต้องใช้ความอดทน ใจเย็นประณีต ร่วมไม้ร่วมมือ และการทำอาหารร่วมกัน แกงส้มปลามงสับปะรด ผัดหมึกดำ ผัดผักเขลียงกับไข่ หลังอาหารค่ำมีโจทย์ร่วมกับพี่ ๆ ที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วยการมองสถาณการณ์ตรังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยแล้วเราจะทำอย่างไรกันดี

ประสบการณ์เรื่องเล่าเคล้าน้ำตาของเยาวชนใน 4 กลุ่มย่อยที่บอกผ่านมาในกลุ่มทำให้เกิดการเชื่อมโยงให้เกิดการตระหนักว่าเราเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว คุณหมอภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สช. ได้ช่วยยกระดับให้เห็นความสำคัญของการเตรียมรองรับสังคมสูงวัยตามบทบาทของแต่ละฝ่าย พร้อมตัวอย่างการพัฒนาข้อเสนอในเชิงนโยบาย  จากนั้นมีการคัดเลือกบทเพลงชาวค่ายนำมาร้องร่วมกันโดย ผอ.โอม ลูกศิษย์ก้นกุฎิของครูวิโรจน์ ศรีราพันธ์ เป็นผู้บรรเลงกีต้าและร้องนำ เมื่อนำเสนอร่วมกันแล้วพระอาจารย์อิทธิยาวัธย์ได้ตั้งข้อสังเกตุว่าการรับรู้ในวันนี้แปลก สามารถลงลึกไปได้ไกลเกินคาด สรุปกระบวนการเรียนรู้ในวันแรกนี้มุ่งฝึกให้เยาวชนเกิดการตระหนักรู้ เห็นความสำคัญของชุมชนในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างความรู้สึกประทับใจจากเรื่องเล่าอันทรงพลังเพื่อกระตุันการเรียนรู้ในวันต่อไป

กิจกรรมในวันที่ 2 เยาวชนชาวค่ายต้องตื่นตี 4 ออกเดินทางไปลงเรือที่ท่าเรือบ้านพร้าวเพื่อไปยังแหล่งหญ้าทะเลที่เมื่อก่อนเป็นแปลงหญ้าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดมีสายพันธุ์หญ้าทะเล 12 สายพันธุ์จาก 13 สายพันธุ์ที่มีในประเทศไทย เห็นภาพมีแต่ตอหญ้า เกิดความสะเทือนใจ ก่อนหน้าหญ้าทะเลแปลงใหญ่นี้ถูกตะกอนทรายจากโครงการขุดลอกร่องน้ำตรังทับถมเกิดการเน่าเปื่อยตลอด 2-3 ปีมาแล้ว เมื่อโดนภาวะโลกเดือดในปีนี้เข้าไปหญ้าทะเลจึงเหี้ยนหายไปจากหัวแหลมจุโหย พะยูนก็หายตามไปด้วย มันรันทดหดหู่ แต่ก็ยังมีความหวัง ความฝันอยู่ในจิตใจของแกนนำกลุ่มอนุรักษ์อย่างพี่ฉัต เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าฯพี่วิเชียร และน้อง ๆ เยาวชนพิทักษ์ดุหยง เห็นคราบน้ำตาฉาบทับภาพแสงทองรุ่งอรุณของตรังเมื่อแลผ่านเขาวังวน เดินทางต่อไปยังแปลงหญ้าทะเลแปลงที่ 2 แปลงนี้เต็มไปด้วยหญ้าใบมะกรูด โอ้ทำไมงดงามอย่างนี้ พี่ฉัตพูดอะไรไม่ออกไปสักพักหลังจากไม่ได้มาเยือนที่นี่กว่า 3 สัปดาห์ พร้อมเสียงเครือ ๆ อยู่ในคอ พะยูนรอดแล้ว เมื่อคืนมีงานปาร์ตี้ที่นี่ ร่องรอยไถดินกินหญ้าใบมะกรูดเต็มพื้นที่  "ใจฟู" ขึ้นมาแล้ว อย่างไรก็ตามเรายังมีโจทย์เรื่องขยะในป่าหญ้าที่เป็นปัญหากับพะยูนให้ต้องหาทางจัดการกันอีกเพื่อให้บทเรียนจากน้องมาเรียมเป็นคุณูปการต่อพะยูนตัวอื่น ๆ ได้สัมผัสความสุขของเยาวชนที่มาร่วมเรียนรู้สภาพจริง ธรรมชาติเป็นห้องเรียนอันกว้างใหญ่ออกจากกรอบสี่เหลี่ยม เรียนรู้จากของจริง เห็นความจริงที่ดำรงอยู่ ความจริงเหล่านี้มีทั้งสร้างให้เห็นภาพหดหู๋แต่นำไปสู่การพัฒนาความตระหนักเห็นความสำคัญที่ต้องร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม

ในทางการศึกษาเรามักจะพูดถึงคำว่า BBL แต่สำหรับค่ายนี้เราอาจจะสรุปว่ามันเป็น BBS (Brain Base Situation) ไปทำนองนั้นแทน ภาวะใจฟูเกิดขึ้นร่วมกัน ทำให้เราเห็นประการหนึ่งว่านักเรียนหรือสามเณรในระบบการเรียนรู้นั้นเพียงมาร่วมเรียนรู้กับชุมนก็สามารถซึมซับเรื่องราวในชุมชนได้ สามารถให้กำลังใจกับชุมชน หนุนเสริมบทบาทไปด้วยกัน เราเดินทางโดย win win แบบนี้มาแล้วโดยไม่ขาดสาย

ในภาคบ่ายเยาวชนได้ไปศึกษาพื้นที่ชุมชนที่มัสยิดหาดทรายแก้วและกลุ่มเครื่องแกง ศาสนามีความสำคัญสูงสุดสำหรับชุมชนและสร้างความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนของตนเอง เกาะลิบงสามารถกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวโดยอาศัยความเข้มแข็งทางศาสนา เข้ามาบ้านเราต้องเที่ยวแบบเรา จากนั้นเยาวชนได้ไปเรียนรู้กลุ่มจัดการขยะแปรสภาพถุงกระสอบข้าวสารเป็นกระเป๋าปักเกาะลิบงสวย ๆ ช่วยลดขยะในเกาะได้อีกทางและท้ายสุดไปเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง ทำให้เห็นว่าชุมชนสามารถรวมดัวสร้างอาชีพทำกะปีผ่านงานวิจัยชุมชน สร้างรายได้แก้ปัญหาในชุมชนได้

บทเรียนวันนี้อัดแน่นไปด้วยองค์ความรู้จากการ "เรียนรู้ชุมชน" คนตัวเล็กตัวน้อยในชุมชนนี้แหละคือพระเอกในการรักษาสิ่งแวดล้อมกันต่อไป ช่วงกลางคืนมาสรุปให้เห็นถึงความสุขของเกาะลิบงที่เชื่อมโยงโจทย์เตรียมรองรับสูงวัยเข้าไปด้วยกัน เรื่องราวดี ๆ จากพิธีเทียนนำโดย ผอ.โอม พระอาจารย์อิทธิยาวัธย์ น้องฉิม ในท่ามกลางแสงจันทร์ได้พรั่งพรูออกมาอย่างคาดไม่ถึง นึ่คือการ Heal ใจที่เทียบเท่าได้กับ Heal the world. อะไรทำนองนั้นได้ ที่เห็นพลังเปลี่ยนแปลงชัดเจนมาก ๆ เห็นจะเป็นภาพเมื่อพระคุณเจ้าและสามเณรเดินขึ้นมาจากทะเลพร้อมทั้งขยะถุงใหญ่ ๒-๓ ถุง โดยในกิจกรรมครั้งนี้ไม่ได้กำหนดกิจกรรมพัฒนาสิ่งแวดล้อมอะไรไว้แต่อย่างใด

กิจกรรมวันที่ 3 ฝึกสมาธิท่ามกลางแสงเช้า อ่านเรื่งราว "บะหมี่น้ำชามเดียว" คิดคำนึงต่อไปว่าเราจะทำอะไร ตามบทบาทระดับการมีส่วนร่วมว่าเราจะเป็นแค่ แขกผู้มาร่วมงาน เป็นญาติ หรือเป็นเจ้าภาพร่วม แววตาอันฉายพลังของเยาวชนน่าสนใจมาก เยาวชนพิทักษ์ดุหยงมั่นใจในการทำงานของกลุ่มยิ่งขึ้น น้อง ๆ กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์สัมพันธ์ตรังเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาศักยภาพตนเองพร้อมสานงานหนุนเสริมชุมชน พระและสามเณรได้เรียนรู้โลกกว้างตามความเป็นจริงมองเห็นทิศทางว่าจะนำไปใช้บอกเล่าญาติโยมได้อย่างไร ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนวิเชียรมาตุ 3 เห็นการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาศักยภาพของตนกล้าคิดกล้าพูดกล้านำเสนอมากขึ้น

ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นในส่วนการพัฒนาศักยภาพเยาวชนครั้งนี้ได้เกินความคาดหมาย ในอดีตกิจกรรมเยาวชนอนุรักษ์สัมพันธ์ตรังเราไม่ได้เริ่มต้นที่เรื่องยาก ๆ  แต่เริ่มที่ฝึกการกล้าแสดงออกในทางสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน การพัฒนาจิตสำนึกในระยะเริ่มต้น แล้วค่อยไปบ่มเพาะในกิจกรรมต่อ ๆ ไปจนกลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มองเห็นความจริงลึกซึ้งขึ้น สามารถยกระดับความจริงเหล่านั้นให้เป็นความงดงาม และสร้างเป็นความรัก...สันติภาพ...ในที่สุด

แม้กิจกรรมครั้งนี้อาจจะไม่ใช่การจัดค่ายเยาวชนเต็มรูปแบบแต่การผนวกโจทย์เตรียมรองรับสังคมสูงวัยเข้ามาก็ทำให้เห็นว่ากระบวนการพัฒนาสามารถบูรณาการเข้าด้วยกันได้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตัวเยาวชนได้อย่างน่าทึ่ง

สำราญ สมาธิ บันทึกเรื่องราว

Relate topics