แนะนำเขตสุขภาพเพื่อประชาชน

by Little Bear @18 ธ.ค. 59 13:12 ( IP : 171...167 ) | Tags : บทความ
photo  , 814x591 pixel , 88,830 bytes.

ความเป็นมาและพัฒนาการของเขตสุขภาพเพื่อประชาชน

๑. ประเทศไทยมีการพัฒนาและปฏิรูประบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมาตามลำดับ โดยช่วงแรก รัฐบาลเน้นเรื่องความเสมอภาคในการเข้าถึงและได้รับบริการสาธารณสุข จึงมีการขยายบริการสาธารณสุขให้ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ มีการจัดตั้งสถานบริการระดับต่าง ๆ ทั้งกรุงเทพมหานคร  จังหวัดทุกจังหวัด  อำเภอทุกอำเภอ  สถานีอนามัยและศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนครบทุกตำบล  รวมทั้งพัฒนาและขยายการผลิตบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ

ในขณะเดียวกัน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมา ประเทศไทยก็รับแนวคิดการสาธารณสุขมูลฐาน ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและบทบาทของประชาชนในการพัฒนาสาธารณสุข  เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการพัฒนาสาธารณสุขจากเดิม  ที่เน้นบทบาทของรัฐและวิชาชีพเป็นศูนย์กลาง  มาเป็นการพัฒนาสาธารณสุขบนฐานความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ที่ผสมผสานเรื่องสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีการขยายความร่วมมือกับกระทรวงต่าง ๆ แต่การปฏิรูประบบสาธารณสุขหรือระบบสุขภาพมิได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เมื่อมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (พ.ศ. ๒๕๓๕) เพื่อสนับสนุนการสร้างความรู้เชิงระบบรองรับการปฏิรูประบบและโครงสร้างต่าง ๆ ในระบบสุขภาพ  และในทศวรรษล่าสุดนี้ ระบบสุขภาพได้ขยายความกว้างออกไปกว่าพรมแดนระบบสาธารณสุขเดิม มีภาคส่วนต่าง ๆ  เข้ามาเป็นผู้เล่นร่วมจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการต่าง ๆ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ภาคเอกชน  ภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่น ๆ ไปในทิศทาง “สุขภาพโดยคนทั้งมวล เพื่อคนทั้งมวล” (All for Health for Health for All)  ได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิรูประบบสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๔๓ แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (คปรส.) จัดทำ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทด้านสุขภาพของประเทศที่เน้นทิศทาง  “สร้างนำซ่อม” (พ.ศ. ๒๕๔๓)  มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และการปรับเปลี่ยนโรงพยาบาลอำเภอบ้านแพ้วเป็นองค์การมหาชน (พ.ศ. ๒๕๔๔)  มีการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยยึดระบบการอภิบาลแบบมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน (พ.ศ. ๒๕๔๕)  มีการออกกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีกรรมการจาก ๓ ภาคส่วน ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบเน้นการมีส่วนร่วม ที่เป็นการทำงานอภิบาลระบบแบบเครือข่าย (Governance by Networking) ที่เชื่อมโยงกับการอภิบาลโดยรัฐ

๒. ปัจจุบันระบบสุขภาพของประเทศเป็นพหุลักษณ์เชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่น และมีแนวโน้มที่ซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานของส่วนต่าง ๆ  ในระบบสุขภาพแห่งชาติให้หนุนเสริมการทำงานกันและกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการมีสุขภาพดีถ้วนหน้าในทิศทางสร้างนำซ่อม รวมทั้ง กระจายอำนาจและทรัพยากรให้ ชุมชนท้องถิ่น และภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมมีบทบาทหน้าที่ในการอภิบาลระบบสุขภาพ พัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ และจัดการงานด้านสุขภาพมากขึ้น
ในการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย  ซึ่งมีสาระสำคัญประกอบด้วย  (๑) การปฏิรูประบบการสร้างเสริมสุขภาพ  การป้องกันโรค  และการจัดการภัยคุกคามสุขภาพ  ที่เน้นการปฏิบัติตามหลักการที่เรียกว่า “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” (Health in All Policy)  (๒) การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ ที่เน้นการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ระบบบริการปฐมภูมิ และเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน เพื่อดูแลสุขภาพองค์รวมและระยะยาว  (๓) การปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาบุคลากรสุขภาพ (๔) การปฏิรูประบบการเงินการคลัง และระบบหลักประกันสุขภาพ และ (๕) การปฏิรูปการอภิบาลระบบสุขภาพและการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ โดยเน้นบทบาทการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการระบบสุขภาพ

๓. ต่อมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรหลักด้านสุขภาพ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.)  และกรมบัญชีกลาง ซึ่งได้มีเห็นร่วมกันว่า ควรจะพัฒนากลไกหรือเครื่องมือเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพในระยะต่อไป  สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๕๖ มติ ๘ การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย  ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่ามีประเด็นสำคัญที่ควรขับเคลื่อนเพื่อปฏิรูประบบสุขภาพในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ความเห็นชอบต่อไป ได้แก่ การปฏิรูประบบสุขภาพในระยะเร่งด่วน เสนอให้จัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ ที่ยึดโยงการทำงานของหน่วยงานและองค์กรทุกภาคส่วน โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน และการปฏิรูประบบสุขภาพในระยะยาวเสนอให้นำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๕๖ มติ ๘  “การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” เสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความเห็นชอบเพื่อเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

๔. การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้มีมติเห็นชอบกับข้อเสนอประเด็นสำคัญที่ควรขับเคลื่อนเพื่อปฏิรูประบบสุขภาพทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาวข้างต้น  จึงได้เสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ คสช. และหัวหน้า คสช. ได้อนุมัติการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเมื่อ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ  ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนารูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนขึ้น จนมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ. ๒๕๕๙  โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๖) และ (๘) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔

๕. การจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนนับเป็นมิติใหม่ของการทำงานในลักษณะเครือข่าย โดยใช้พื้นที่ระดับกลุ่มจังหวัดเป็นฐานในการทำงานแบบมีส่วนร่วม ซึ่งต้องมีการสานพลังซึ่งกันและกัน ทั้งพลังปัญญา พลังสังคม และพลังรัฐ ร่วมกันจัดการประเด็นหรือปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญของประชาชนในเขตพื้นที่ โดยจำเป็นต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วม (ทางสุขภาพ) ของเขตพื้นที่ของตนเอง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และมีการระดมสรรพกำลัง ทั้งองค์ความรู้ ความคิด และทรัพยากรในการขับเคลื่อนร่วมกันก่อนจะนำไปปฏิบัติภายใต้กลไกหรือกฎระเบียบตามภารกิจความรับผิดชอบของหน่วยงานของแต่ละคนต่อไป

๖. กลุ่มจังหวัดในเขตพื้นที่
เขต ๑๑ มีจำนวน ๗ จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง

เขต ๑๒ มีจำนวน ๗ จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

เป้าประสงค์ ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ระดับพื้นที่ สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพ

วัตถุประสงค์ ๑)กำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์ ในการดำเนินการและพัฒนาระบบสุขภาพในเขตฯ โดยบูรณาการทุกภาคส่วน ทุกมิติ ๒) รองรับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนการจัดการสุขภาพทุกมิติ, เกิดสมดุลในการอภิบาลระบบสุขภาพ ๓) จุดประกาย,กระตุ้น ให้องค์กรต่างๆ ดำเนินงานได้บรรลุภารกิจของตน ๔) ส่งเสริมแนวทางการกระจายอำนาจ, สร้างความเข้มแข็งพื้นที่ ๕) เสริมพลังกลไกต่างๆ (Synergy) ในเขตพื้นที่

รูปแบบของเขตสุขภาพเพื่อประชาชน กลไกหลัก ๑. คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) แต่ละเขต
 จำนวน ๔๕ คน กขป. มีวาระ ๔ ปี  บทบาทหน้าที่ กขป.
๑) กำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์ ในการดำเนินการและพัฒนาระบบสุขภาพในเขตฯ โดยบูรณาการภารกิจ อำนาจหน้าที่ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ๒) ดำเนินการหรือประสานงานให้เกิดการขับเคลื่อนตาม ๑) ๓) เสนอแนะและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสุขภาพในเขตพื้นที่ต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง ๔) ประสานงานกับ กขป. ในเขตพื้นที่อื่น เพื่อให้เกิดการบูรณาการงานด้านสุขภาพ ให้มีประสิทธิภาพ ๕) ติดตาม,ประเมินผลการดำเนินงาน ๖) รายงานผลการดำเนินการต่อ คสช. อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

การได้มาของกขป. ก.กรรมการผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเสนอชื่อมาให้ 1.ผู้แทนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 1 คน 2.ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1 คน 3.ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1 คน 4.ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย 1 คน 5.ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ 1 คน 6.ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข 4 คน 7.ผู้แทนกรมบัญชีกลาง 1 คน 8.ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม 1 คน 9.ผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 1 คน 10.ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 1 คน 11.ผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1 คน 12.ผู้แทนผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทๆละ 1 คน(3)

ข.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและวิชาชีพ 13.ผู้แทนมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยที่มีการจัดการศึกษาด้านสุขภาพ 2 คน 14.ผู้ทรงคุณวุฒิในเขตพื้นที่ 4 คน เลือกจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะ รัฐศาสตร์ หรือนิติศาสตร์ ด้านบริหารหรือเศรษฐศาสตร์ ด้านสื่อมวลชน ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนท้องถิ่น ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านพัฒนาประชาชนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ด้านละ 1 คน 15.ผู้แทนองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข 3 คน 16.ผู้แทนบุคลากรด้านสาธารณสุข 2 คน

ค.กรรมการภาคเอกชนและภาคประชาสังคม
17.กรรมการสุขภาพแห่งชาติ 1 คน 18.ผู้แทนกลุ่ม เครือข่าย หรือองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ที่ปฎิบัติงานในเขตพื้นที่ 6 คน ด้านสตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน คุ้มครองผู้บริโภค และด้านสิ่งแวดล้อม ด้านละ 1 คน 19.ผู้แทนกลุ่ม เครือข่าย หรือองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ที่ปฎิบัติงานในเขตพื้นที่ที่เกี่ยวกับสุขภาพ 4 คน 20.ผู้แทนกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข 1 คน 21.ผู้แทนกลุ่ม เครือข่าย หรือองค์กรสื่อมวลชน 1 คน 22.ผู้แทนสถานพยาบาลเอกชน 1คน 23.ผู้แทนร้านยา 1 คน 24.ผู้แทนหอการค้าจังหวัด 1 คน 25.ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 1 คน

กลไกสนับสนุน ๒. กองเลขานุการกิจร่วม - องค์ประกอบ : สช., กระทรวง สธ., สปสช., สสส. - หน้าที่ : อำนวยความสะดวกและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ กขป.
ศูนย์ประสานงานเขตสุขภาพเขต 12 เลขที่ 73 เพชรเกษมซอย 5 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทร.&แฟกซ์ 074-221286
เลขานุการ นายชาคริต โภชะเรือง 0815994381 ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) เลขานุการร่วมประกอบด้วย ดร.กุลทัต หงส์ชยางกูร 085 892 8455 ผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางนิฐินารถ ศิริเวช 089 870 0679 ผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เภสัชกรประเวศ หมีดเส็น 089 294 0505 ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

งบประมาณและการบริหาร - ใช้งบฯ บริหารจัดการสำนักงานและการประชุม กขป. จาก สช. - บูรณาการทรัพยากรในการทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่จากองค์กรที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน (โดย กขป. แต่ละเขตฯ กำหนดแนวทางการดำเนินการร่วมกัน)
แนวทางการทำงาน ๑) ให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมาย ทิศทางและยุทธศาสตร์ร่วม
๒) พัฒนาวิธีการจัดการใหม่ๆ เช่น การจัดการระบบการใช้ข้อมูลร่วม การทำแผนปฏิบัติการร่วม เพื่อบูรณาการทรัพยากรร่วมกัน เป็นต้น ๓) วางแนวทางเชื่อมประสานกลไกแนวดิ่ง/แนวราบในพื้นที่ ๔) เน้นการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน และการติดตามประเมินผล เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และยกระดับการทำงาน ๕) อาจใช้เครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะฯ ต่างๆ , มีปฏิบัติการ และมีเวทีและเปลี่ยนเรียนรู้
๖) การสื่อสารในรูปแบบที่หลากหลาย

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ.....ข้อ ๗ วรรค ๔  “ให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่เลขานุการของ กขป. และให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่เลขานุการร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ กขป.”