ถอดบทเรียนการดำเนินงานขับเคลื่อนระบบอาหารตลอดห่วงโซ่โครงการSafetyFood โรงเรียนวัดควนปันตาราม

  • photo  , 1000x750 pixel , 248,640 bytes.
  • photo  , 1000x750 pixel , 229,321 bytes.
  • photo  , 1000x750 pixel , 198,637 bytes.
  • photo  , 1000x1333 pixel , 263,182 bytes.
  • photo  , 577x1280 pixel , 159,395 bytes.
  • photo  , 1000x750 pixel , 179,776 bytes.
  • photo  , 1000x1333 pixel , 316,743 bytes.

ถอดบทเรียนการดำเนินงานขับเคลื่อนระบบอาหารตลอดห่วงโซ่โครงการSafetyFood โรงเรียนวัดควนปันตาราม

โรงเรียนวัดควนปันตาราม ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน 70 คน และบุคลากรในโรงเรียนเพียง 12 คน แต่สามารถดำเนินงานอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบของโครงการขับเคลื่อนระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในโรงเรียนและชุมชนจังหวัดสงขลา ปทุมธานี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง  (โครงการ Safety Food) ภายใต้การสนับสนุนของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ  สสส.

การเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนไม่มากนัก ทำให้โรงเรียนวัดควนปันตารามประสบปัญหาเช่นเดียวกับโรงเรียนขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ  คือเงินอุดหนุนค่าอาหารรายหัวของนักเรียนกลดน้อยถอยจำนวน สวนทางกับวัตถุดิบการทำอาหารที่ราคาสูงแถมยังไม่รู้ที่มา เพราะซื้อมาจากตลาด

ขณะที่ในชุมชนเองมีการทำเกษตรน้อยลง และเป็นผลให้นักเรียนก็มีความรู้ด้านการทำเกษตรน้อยลงไปด้วย เพราะผู้ปกครองไม่ต้องการให้ลูกเผชิญความยากลำบากจากการทำไร่ทำสวน

อย่างไรก็ตามโรงเรียนมีโครงการเศรษฐกิจพอเพียงที่ส่งเสริมเรื่องการเกษตร และมีครูที่มีใจรักในการทำเกษตรอยู่เป็นทุนเดิม เมื่อโครงการขับเคลื่อนระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในโรงเรียนและชุมชน ของ สสส. เข้ามา ครูจึงให้ความสำคัญและสามารถนำมาบูรณาการต่อยอดด้วยกันได้ โดยสร้างแรงจูงใจให้กับนักเรียนเห็นความสำคัญของการเพาะปลูกว่าจะทำให้ได้อาหารที่ปลอดภัย ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว และพัฒนาพื้นที่รกร้างที่มีจำนวนมากในโรงเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยวัตถุประสงค์สำคัญในการเข้าร่วมโครงการ นอกจากต้องการลดรายจ่ายด้านอาหารกลางวันในโรงเรียนแล้ว ยังต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานชีวิต สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต

กระบวนการในการขับเคลื่อนงาน ประกอบด้วย

นำแนวคิด เสนอต่อผู้บริหารโรงเรียนและคุณครูในโรงเรียนในสัปดาห์ประชุมของโรงเรียนเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการคิด และช่วยกันตัดสินใจ

จัดตั้งคณะกรรมการและผู้รับผิดชอบหลัก เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในทุกระดับชั้น

แบ่งบทบาทหน้าที่ให้กับคณะกรรมการทุกคนอย่างชัดเจนให้มีส่วนร่วม และนำไปบูรณาการกับการเรียนการสอนของแต่ละรายวิชา เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียนจะเป็นผู้นำในการประชุมวางแผน ควบคุมติดตามผลการดำเนินงาน และสนับสนุนให้เกิดนโยบาย  คุณครูสอนวิชาภาษาไทย ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการแปรรูปของผลผลิตร่วมกับเจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าหน้าที่ธุรการทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เป็นหลัก
วางแผนร่วมกันในการปลูกผักเพื่อหมุนเวียนให้เป็นอาหารกลางวัน

นำนักเรียนแกนนำและ ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมในแต่ละครั้ง

จัดให้เป็นนโยบายของโรงเรียน

ตลาดนัดผักปลอดสารโรงเรียนวัดควนปันตาราม

การดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในโรงเรียนและชุมชนจังหวัดสงขลา ปทุมธานี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง ในโรงเรียนวัดควนปันตาราม นอกจากทำให้เด็ก ๆ มีทักษะในการทำเกษตรตั้งแต่การพรวนดิน เพาะปลูก และการแปรรูป โดยสามารถทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากปราชญ์ชุมชนและผู้ปกครองที่เริ่มเห็นความสำคัญและเข้ามาสนับสนุนแล้ว

กิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการมีตลาดนัดผักปลอดสารที่มีจุดเริ่มต้นจากการนำผักที่เหลือจากการนำไปประกอบอาหารให้นักเรียนไปจำหน่ายให้ผู้ปกครองที่มารับส่งบุตรหลานในโรงเรียนเพียงไม่กี่ครั้ง  แต่เมื่อนักเรียนขายได้และเห็นรายได้ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความภาคภูมิใจ  คุณครูจึงมีแนวคิดการจัดตลาดนัดในโรงเรียนเกิดขึ้น เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาขายให้กับผู้ปกครอง  และเปิดโอกาสให้นำผลผลิตที่มีจากที่บ้านมาจำหน่ายในตลาดได้ด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการนำผักปลอดสารที่ตนเองปลูกที่บ้านมาร่วมขายในกิจกรรมตลาดนัดกับนักเรียน รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทางโรงเรียนนำมาแบ่งปันให้นักเรียนเพื่อออมไว้กับสหกรณ์โรงเรียนรอปันผล    ขณะที่ผู้ปกครองก็มีรายได้จากการนำผลผลิตมาจำหน่าย  และมีการปันเงินส่วนหนึ่งมาเป็นทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์ในอนาคต

ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ

จุดเด่นของโรงเรียนวัดควนปันตารามที่ทำให้การดำเนินงานโครงการอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ประสบความสำเร็จ จากการถอดบทเรียนพบว่ามีหลายปัจจัย เช่น วิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรปลอดภัยที่นักเรียนลงมือปฏิบัติ และนำไปเป็นทักษะอาชีพได้ในอนาคต ครูและบุคลากรที่มีใจรักในการทำเกษตร มีความร่วมมือและความรักใคร่สามัคคีกัน อีกทั้งยังมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ ได้แก่

การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน บุคลากรในโรงเรียน ผู้ปกครองและภาคีเครือข่ายอย่างสม่ำเสมอ  ด้วยงบประมาณ และบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  ทำให้โรงเรียนใช้การสื่อสาร กิจกรรมต่างๆ ผ่านสื่อออนไลน์ ที่มีอยู่ เช่น ไลน์กลุ่มผู้ปกครอง เพจของโรงเรียน และเฟสบุ๊คส่วนตัวของคุณครู ที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงในการประชาสัมพันธ์ให้บุคคลข้างนอกได้เห็นอย่างต่อเนื่อง

การบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนเพื่อแบ่งเบาภาระของครู  เนื่องจากโรงเรียนวัดควนปันตาราม ไม่มีชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มการเรียนรู้ จึงได้จัดบูรณาการเข้าสู่วิชาการงานอาชีพ และชุมนุม เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติจริง นอกจากนี้ยังบูรณาการเข้ากับวิชาอื่นๆ เช่น ปรับสอนในวิชาภาษาอังกฤษ เรื่องคำศัพท์ของชนิดผัก และคณิตศาสตร์ ในการคิดบวกเลข การทอนเงิน ในการขาย เป็นต้น

การผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายโรงเรียน  โดยครูที่รับผิดชอบเรื่องการทำเกษตรอาหารปลอดภัย ได้วางแนวทางในการขับเคลื่อนงานด้วยการทำความเข้าใจร่วมกัน วางแผนร่วมกัน เกิดโครงสร้างการทำงานที่เป็นระบบมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดนโยบายไม่ยากเมื่อผู้บริหารเห็นความเข้มแข็ง มีรากฐานที่มั่นคง ถึงแม้ว่าในอนาคตจะมีการโยกย้ายผู้บริหารอยู่อย่างต่อเนื่องแต่เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก็ยังคงอยู่ ผู้อำนวยการต้องยอมรับ เพราะเป็นนโยบายหรือวัฒนธรรมองค์กร ในอนาคตโรงเรียนจะผลักดันให้เป็นนโยบายของโรงเรียนในแผน 4 ปี รวมถึงผลักดันให้เกิดโครงการเกษตรในหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หรือวิชาเลือกอื่นๆ เน้นการทำพื้นที่รกร้างเป็นแปลงเกษตร เลี้ยงสัตว์ และปลูกผัก

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยในโรงเรียนตลอดห่วงโซ่ของโรงเรียนวัดควนปันตารามจึงเป็นกรณึศึกษาและต้นแบบที่น่าสนใจสำหรับโรงเรียนต่าง ๆ ที่ต้องการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกฝ่าย และอาจกล่าวได้ว่าแม้โรงเรียนจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กแต่คุณภาพของโรงเรียนนั้นไม่เล็กเลยจริงๆ

#โรงเรียนวัดควนปันตาราม

#อาหารปลอดภัยในโรงเรียนตลอดห่วงโซ่

#โครงการSafetyFood

#กิจกรรมภาคีแผนอาหาร

#สสส

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ  Food Citizens

Relate topics