เสวนา “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายแดนใต้” : ทบทวนอดีตเพื่อคุณภาพชีวิต ความยั่งยืน และความเป็นธรรม
เวที “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายแดนใต้” : ทบทวนอดีตเพื่อคุณภาพชีวิต ความยั่งยืน และความเป็นธรรม
วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม 2563 เวลา 9.00 น. - 16.00 น. ณ ห้องประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
หลังจากที่อาจารย์ชลิตา บัณฑุวงศ์ ตัวแทนเครือข่ายงานวิชาการศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนศ.จชต.) บอกกล่าวความเป็นงานความเป็นมาของการจัดงาน ก็ได้มีการกล่าวต้อนรับโดยคณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และที่สุดยอดก็มีการเปิดงานโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา คุณพาตีเมาะทสะดียามู ซึ่งได้กล่าวสะท้อนถึงความสำคัญเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐกับภาคประชาสังคมเครือข่ายชุมชนที่จำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม
ถัดมาเป็นช่วงปาฐกถาที่น่าสนใจเป็นอย่างมากที่เห็นขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชน โดยคุณบารมี ชัยรัตน์ เลขาธิการสมัชชาคนจน ว่าด้วยเรื่องการเข้าไม่ถึงสิทธิเหนือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของคนจนในสังคมไทยและประสบการณ์ในการต่อสู้เรียกร้องซึ่งได้สะท้อนถึงแนวทางการต่อสู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะด้านที่ดินที่ได้เห็นความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างของประเทศ ความพยายามของสมัชชาคนจนสู้ที่เน้นถึงความไม่เห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้าและเป็นความพยายามในการต่อสู้ตามแนวทางระบอบประชาธิปไตยเพราะเชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยทางตรงเท่านั้นที่ทำให้เห็นหัวของประชาชน นอกจากนั้นชุมชนต้องมีสิทธิ์ในการเข้าถึง อนุรักษ์ และยับยั้งโครงการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องและไม่เป็นที่ต้องการของชุมชน
ช่วงเวลาถัดมาเป็นการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อดีและข้อจำกัดโดยภาพรวมจะเป็นการให้ข้อมูลระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ มีเอกสารประกอบด้วย โดยรองศาสตราจารย์ดร.ธนพร ศรียากูล ประธานอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้การถ่ายโอนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ก่อนหมดช่วงเช้าเป็นการเสวนาโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการทบทวนอดีตและบทเรียนการจัดการทรัพยากรในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาเครือข่ายองค์กรชุมชนที่ขับเคลื่อนผ่านประเด็นปัญหาต่าง ๆ
เริ่มจากอาจารย์เกื้อ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พูดถึงการต่อสู้ของชุมชนที่ลำพญากับการสร้างอ่างเก็บน้ำถึงที่สะท้อนให้เห็นว่าการต่อสู้ของประชาชนในแนวทางสันติวิธีเพื่อคัดค้านทานเสียงโครงการพัฒนาที่มีนามสกุลห้อยท้ายว่าพระราชดำริก็ไม่อ่านทำได้จนในที่สุดชุมชนก็ยอมแพ้และพักการต่อสู้ และกล่าวถึงปัญหาปัจจุบันที่การต่อสู้ของชุมชนที่ยังมีชัดเจนอยู่กับโครงการพัฒนาที่เทพาและจะนะ จังหวัดสงขลา
อาจารย์นุกูล รัตนดากุล นายกสมาคมลุ่มน้ำสายบุรีได้สะท้อนให้ย้อนอดีตให้เห็นการเริ่มต้นการทำงานเครือข่ายชุมชนผ่านการวิจัยเรื่องนกน้ำอพยพซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้เรียนรู้หลักคิดหลักการใช้ชีวิตของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่พร้อม ๆ กับสะท้อนความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงของระบบนิเวศที่ไม่อาจแยกตัดขาดกันได้ เหมือนเพลงพี่เบิร์ด “ฝนที่ตกทางโน้นหนาวถึงคนทางนี้”
อาจารย์บัณฑิต ไกรวิจิตร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีสะท้อนและการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรพลังงานวิจัยเชิงมานุษยวิทยาว่า การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่เพียงกระทบกับคนในชุมชนเท่านั้น ยังกระทบกับกลุ่มชาติติพันธ์ที่อยู่ในป่าลึกอย่าง “โอรังอัสลี” ด้วย เพราะปัจจุบันอาหารเพื่อการยังชีพในพื้นที่ป่าหายไป ยิ่งมาประสบกับสถานการณ์ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ชาวพุทธไม่สามารถไปล่าหมูป่าได้ทำให้ประชากรหมูป่าเพิ่มขึ้น ดังนั้นเผือกมันที่เป็นอาหารของกลุ่มโอรังอัสลีจึงลดน้อยลงจนบางครั้งจำเป็นต้องออกมาทำงานรับจ้างเพื่อแลกอาหารกับคนในชุมชน
ขณะที่ตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้านอำเภอปะนาเระ คุณสุไลมาน ดาราโอะ กล่าวว่า ช่วงนึงทรัพยากรทางทะเลจะลดน้อยลงด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐ แต่อย่างไรก็ตามด้วยบทบาทของความร่วมมือของเครือข่ายก็ทำให้การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลมีความหวัง สามารถฟื้นฟูทรัพยากรและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้
อย่างไรก็ตามสถานการณ์กลับแตกต่างกับกรณีข้อพิพาทที่ดินอุทยานแห่งชาติบูโด- สุไหงปาดี โดยคุณอาหามะ ลีเฮง กล่าวถึงปัญหาประกาศพื้นที่อุทยานโดสุไหงปาดีที่กระทบต่อชุมชนที่อยู่มาก่อนอุทยานเป็นร้อยปีแม้ว่าจะมีเอกสารหลักฐานแสดงการมีอยู่ก็ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินกระทบต่อการใช้สิทธิ์ในพื้นที่ได้และที่น่ากังวลต่อไปคือการออกพ.ร.บ. อุทยานในปี 62 รวมทั้งการผลักดันพื้นที่มรดกโลกในพื้นที่เบตงอัยเยอร์เวงซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
ช่วงบ่าย อาจารย์ชลิตา บัณฑุวงศ์ ได้นำเสนอลำดับเหตุการณ์สำคัญด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มจาก การตั้งนิคมสร้างตนเอง การสร้างเขื่อนบางลาง การสร้างเขื่อนปัตตานี การพัฒนาพรุบาเจาะ โครงการก่อสร้างเขื่อนสายบุรี การพัฒนาพรุลานควาย โครงการพัฒนาอ่าวปัตตานี การประกาศเขตอุทยานฯ โครงการสร้างเขื่อนเก็บน้ำลำพะยา การขยายพทื้นที่ให้สัมปทานเหมืองหิน การให้สัมปทานขุดทรายในแม่น้ำ รวมถึง โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต
จากนั้นจึงเป็นเวทีเปิด ให้โอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันการจัดการทรัพยากรที่ดีขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นการสะท้อนประเด็นปัญหาจากพื้นที่โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่เป็นประเด็นร้อนกรณีขุดลอกอ่าวปัตตานี มีการแลกเปลี่ยนให้ความเห็นอย่างเข้มข้น รวมถึงการสะท้อนปัญหาการจัดการป่าต้นน้ำ การกันคนออกจากพื้นที่ การขุดลอกพื้นที่พรุ เป็นต้น
ข้างต้นคือเพียงคือสรุปความสั้นๆที่ได้จากเวที แต่บรรยากาศในเวทีสนุกและเข้มข้นไปด้วยข้อมูลเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก ๆ
ไอร์นี แอดะสง บันทึกและรายงาน
ข้อมูลประกอบการจัดเวที
กำหนดการ เวทีเสวนาและระดมความคิดเห็น “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายแดนใต้”: ทบทวนอดีตเพื่อคุณภาพชีวิต ความยั่งยืน และความเป็นธรรม”
09.00-09.25 น. ลงทะเบียน
09.25-09.40 น. ความเป็นมาของการจัดงาน โดย ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนศ. จชต.)
กล่าวต้อนรับ โดย ตัวแทนมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
กล่าวเปิดงาน โดย นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา
09.40-10.20 น. ปาฐกถา “การเข้าไม่ถึงสิทธิเหนือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของคนจนในสังคมไทย และประสบการณ์ในการต่อสู้เรียกร้อง” โดย คุณบารมี ชัยรัตน์ (เลขาธิการสมัชชาคนจน)
10.20 -11.00 น. บรรยายพิเศษ “การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม: ข้อดีและข้อจำกัด” โดย รศ.ดร.ธนพร ศรียากูร (ประธานอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้การถ่ายโอนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
11.00-11.15 น. พักเบรก
11.15-12.30 น. การเสวนา “ทบทวนอดีตและบทเรียนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายแดนใต้”
โดย
1)อ.ดร.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ (คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี)
2)ผศ.นุกูล รัตนดากุล (สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี)
3)ผศ.ดร.บัณฑิต ไกรวิจิตร (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี)
4)คุณสุไลมาน ดาราโอะ (เครือข่ายประมงพื้นบ้านปานาเระ)
5)คุณอาหามาะ ลีเฮง (เครือข่ายที่ดินเทือกเขาบูโด)
ดำเนินรายการโดย อ.อัลอามีน มะแต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
12.30-13.30 น. พักเที่ยง
13.30- 16.00 น. เวทีโต๊ะกลมระดมความคิดเห็น “จากปัจจุบัน สู่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิตที่ดี”
-การนำเสนอ timeline สถานการณ์การเคลื่อนไหวด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชายแดนใต้ และข้อสังเกตเบื้องต้น (15 -20 นาที) โดย ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ (ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เกษตรศาสตร์)
-การระดมความคิดเห็นผู้เข้าร่วมจากตัวแทนเครือข่าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคการเมือง (คนละ 5-8 นาที) ดำเนินรายการโดย อ.อสมา มังกรชัย (คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) และ ดร.ไอย์นี แอดะสง (สำนักอธิการบดีม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี)
-ประมวลสรุปแนวทางการดำเนินงานและประสานความร่วมมือ (10 -15 นาที) โดย อ.ดร.สายฝน สิทธิมงคล (คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี)
(รับประทานของว่างในระหว่างการประชุม)
16.00 น. ปิดงานและเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ
หลักการและเหตุผลของการจัดงาน: สิทธิในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ดี การพัฒนาโดยรัฐและการทำงานของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ได้ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและมีการลิดรอนสิทธิของประชาชนที่ยากจนในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา มีโครงการพัฒนาจำนวนมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน โดยเฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและพัฒนาพื้นที่การเกษตร ที่ทําให้ลักษณะทางกายภาพและระบบนิเวศของพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปและไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม บางกรณี อาทิ โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ/เขื่อนอาจต้องมีการอพยพโยกย้ายประชาชนออกจากที่พื้นที่ตั้งโครงการ นอกจากนั้นก็ยังมีโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ได้ส่งผลหรือกำลังจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแดล้อม ตลอดจนแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ของหน่วยงานรัฐ ที่ทําให้ประชาชนไม่มีสิทธิที่มั่นคงในการครอบครองที่ดิน จนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเต็มที่และเหมาะสม ขณะที่การจัดการทรัพยากรประมงและชายฝั่งบางมาตรการก็ยิ่งส่งผลเสียต่อระบบนิเวศชายฝั่งและต่อชีวิตชาวประมงขนาดเล็ก
ที่ผ่านมาได้มีการรวมตัวกันของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อแก้ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น/ระบบนิเวศต่างๆ แต่กระนั้น แต่ละกลุ่มยังไม่มีโอกาสมากนักในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และปัญหาอุปสรรคในการทำงาน ทั้งนี้ ในแง่หนึ่งทำงานกลุ่มประชาชนเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงได้กับขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในระดับประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในลักษณะเดียวกัน ในอีกแง่หนึ่งก็มีเงื่อนไขหรือลักษณะเฉพาะของความเป็นพื้นที่ชายแดนใต้ ที่บริบทความรุนแรงและความไม่สงบได้ส่งผลอย่างสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวในงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประชาชน ดังนั้น เครือข่ายนักวิชาการศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนศ. จชต.)และภาคีจึงจัดงาน “เวทีเสวนาและระดมความคิดเห็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายแดนใต้: ทบทวนอดีตเพื่อคุณภาพชีวิต ความยั่งยืน และความเป็นธรรม” เพื่อให้กลุ่ม/องค์กรของประชาชนที่ทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์มุมมองระหว่างกัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนกับขบวนการภาคประชาชนในระดับประเทศ ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ เช่น สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำมาสู่การประสานความร่วมมือกันต่อไปในการทำให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำมาซึ่งคุณภาพชีวิต ความยั่งยืน และความเป็นธรรม
วัตถุประสงค์การจัดงาน:
1)เพื่อทบทวนบทเรียนและประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของกลุ่ม/องค์กรประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
2)เพื่อเชื่อมโยงแนวคิดและประเด็นงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของกลุ่ม/องค์กรประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของภาคประชาชนในระดับประเทศ
3)เพื่อหาแนวทางหนุนเสริมและประสานความร่วมมือในระดับต่างๆ ระหว่างกลุ่ม/องค์กรประชาชนที่ทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายแดนใต้ และหน่วยงาน ภายนอก
องค์กร/ภาคีร่วมจัด:
1)เครือข่ายนักวิชาการศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนศ. จชต.)
2)คณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้การถ่ายโอนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3)สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี
4)สมัชชาคนจน
ภาพประกอบเป็นภาพแม่น้ำสายบุรี ถ่ายที่ ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา
Relate topics
- ประชุมเตรียมงานเวทีโชว์แชร์เชื่อม บุหรี่ไฟฟ้า ระดับภาคใต้
- สท.-สนง.เกษตรสงขลา จัดเวทีถอดบทเรียนยกระดับเครือข่ายเกษตรกรผลิตผักอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยี
- กขป.12 ประชุมสรรหากรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนที่มีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2568 - 2572
- จังหวะก้าวสำคัญ 3 เคลื่อนเพื่อพัทลุง
- “กขป.เขต 12 จัดเวทีเสนอแนะเชิงนโยบาย ชี้ปัญหาเร่งด่วนและข้อเสนอความร่วมมือโดยใช้เทคโนโลยี และทุนทางพหุวัฒนธรรมลดความเปราะบางของครอบครัว”
- บพท. และ ม.อ.ปัตตานี จับมือ พอช. พร้อมบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อร่วมพัฒนาตำบลแก้จนนำร่องในพื้นที่เมืองปัตตานี
- System Map และ ข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ (เครือข่าย กขป.เขต 12)
- การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความมั่นคงทางอาหาร
- ตำบลพุมเรียง ชูผักไชยา และปลาอินทรีย์ ปั้นเมนูสุขภาพกินดี อยู่ดี ลด NCDs ที่พุมเรียง
- ต้นทุนเพื่อการพัฒนา จากทีมสนับสนุนชุมชนน่าอยู่เล็ก ๆ สู่โมเดลสุขภาวะชุมชนภาคใต้