ทิศทางการดำเนินงาน 2564-2567 - เขตสุขภาพสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 12
แผนปฏิบัติการ ๔ ปี (พ.ศ.๒๕๖๔-๒๕๖๗) เพื่อการประสานขับเคลื่อนงานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต ๑๒
ความเป็นมา
๑. เกิดจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๖) และ (๘) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔
๒. การจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนนับเป็นมิติใหม่ของการทำงานในลักษณะเครือข่าย โดยใช้พื้นที่ระดับกลุ่มจังหวัดเป็นฐานในการทำงานแบบมีส่วนร่วม จัดการประเด็นหรือปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญของประชาชนในเขตพื้นที่ โดยจำเป็นต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วม (ทางสุขภาพ) ของเขตพื้นที่ของตนเอง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และมีการระดมสรรพกำลัง ทั้งองค์ความรู้ ความคิด และทรัพยากรในการขับเคลื่อนร่วมกันก่อนจะนำไปปฏิบัติภายใต้กลไกหรือกฎระเบียบตามภารกิจความรับผิดชอบของหน่วยงานของแต่ละคนต่อไป
๓.การกำหนดประเด็นขับเคลื่อน ทีมวิชาการอาศัยกรอบคิดสำคัญดังนี้
๓.๑ ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (social determinants of health: SDH) ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) หมายถึง สภาพแวดล้อมที่บุคคลเกิด เติบโต ทำงาน ดำรงชีวิตอยู่ ไปจนถึงระบบซึ่งกำหนดเงื่อนไขในชีวิตประจำวัน อาทิ นโยบายและระบบเศรษฐกิจ วาระการพัฒนา บรรทัดฐานทางสังคม นโยบายสังคมและระบบการเมือง
ทั้งนี้ในการทบทวนสถานการณ์สุขภาวะของเขต ๑๒ ชี้ให้เห็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง การปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม ชนชั้นทางสังคม ถิ่นที่อยู่อาศัย และปัจจัยส่งผ่านทั้ง ปัจจัยพื้นฐาน ชีววิทยาและพฤติกรรม และปัจจัยจิตสังคม ที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาสุขภาวะของประชาชน
เขตสุขภาพที่ ๑๒ ประกอบด้วย ๗ จังหวัดภาคใต้ตอน ล่าง ได้แก่ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นพื้นที่ติดต่อกับทะเล ยกเว้นยะลาจังหวัดเดียว มีพรมแดนติดกับมาเลเซียกั้นโดยเทือกเขาสันกาลาคีรี และแม่น้ำ โก-ลก ภูมิอากาศร้อนชื้น ฝนตกชุก พืชเศรษฐกิจสำคัญคือยางพารา และปาล์มน้ำมัน ประชากร ๔.๙ ล้านคน นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ ๕๓.๓๖ เป็นสัดส่วนที่สูงสุดของประเทศ อัตราเจริญพันธุ์รวมปี ๒๕๖๓ เท่ากับ ๑.๙๘ สูงสุดของประเทศเช่นกัน
๓.๑.๑ สถานการณ์สุขภาวะ จำแนกตามกลุ่มวัย อัตราการเกิดมีชีพต่อ ๑,๐๐๐ ของประชากร อัตราตายและอัตราเพิ่มในเขต ๑๒ อัตราเพิ่มรวมอยู่ที่ ๐.๙๒ สาเหตุการตาย ๕ อันดับแรกแยกเป็น ๑) โรคมะเร็งทุกชนิด ๒) หลอดเลือดสมองและความดันโลหิตสูง ๓) โรคระบบประสาท ๔) โรคหัวใจ ประเด็นสำคัญที่เขต ๑๒ มีความต่างจากเขตอื่นคือ อัตราส่วนมารดาตายในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา แนวโน้มอัตราส่วนมารดาตายต่อแสนการเกิดมีชีพยังสูงกว่าทุกเขตใน ๑๓ เขตของประเทศไทย ในสถานการณ์ของการติดเชื้อโควิด เขต ๑๒ มีความเสี่ยงในกลุ่มแม่และเด็กที่เพิ่มอัตราตายให้สูงขึ้น และการตั้งครรภ์จะเพิ่มความรุนแรงของโควิดและเสี่ยงต่อชีวิตมากขึ้น และสัมพันธ์กับการฉีดวัคซีน ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะตกเลือด คือภาวะฉีด ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีมากในเขต ๑๒ เช่นเดียวกัน ปัญหาความไม่ครบถ้วนในการรับวัคซีนในเด็กยังมีอยู่ นอกจากนี้มีปัญหาในเรื่องของการเจริญเติบโตของเด็ก ตัวชี้วัดที่สำคัญคือภาวะเตี้ย ในพื้นที่เขต ๑๒ พบเกิน ๑๔.๓๒ หมายถึงเด็กในพื้นที่มีภาวะอาหารไม่เพียงพอ ความครอบคลุมพัฒนากรของเด็กที่สมวัยยังน้อยอยู่ กลุ่มวัยแรงงาน ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง จังหวัดตรัง และจังหวัดสงขลาพบปัญหาอุบัติเหตุจราจรสูงมากกว่าจังหวัดอื่น ในวัยทำงานมีดัชนีมวลกายร้อยละ ๕๐ ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด เป็นแนวทางในการนำมาสู่การพัฒนาต่อ ในส่วนของผู้สูงอายุเขต ๑๒ สัดส่วนผู้สูงอายุ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มติดสังคม ติดบ้านมากกว่าติดเตียง พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ยังพบว่าเป็นปัญหาในกลุ่มวัยทำงานช่วงอายุ ๑๕ - ๔๙ ปี ประเด็นปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญ ในเขต ๑๒ มีอัตราการฆ่าตัวตายที่สำเร็จสูงสุดในจังหวัดพัทลุง สตูล ตรังและสงขลาตามลำดับ และแนวโน้มสถานการณ์สูงขึ้นภายใต้สถานการณ์โควิด ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายมีมากใกล้เคียงกับวิกฤติต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้น ปัจจัยโครงสร้างประชากร คาดการณ์ปี ๒๕๗๓ เราจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น มากกว่าภาวะพึ่งพิงที่กลุ่มแรงงานจะรองรับได้ เด็กจะเกิดน้อยลง บุคลากรทางการแพทย์สัดส่วนการรับผิดชอบดูแลใกล้เคียงมาตรฐาน บางจังหวัดมีสัดส่วนของบุคลากรน้อยกว่าประชากร ซึ่งสถานการณ์โควิดเป็นประเด็นสำคัญในการนำมาสู่การปรับทิศทางของเขต ๑๒ และในขณะเดียวกันบางพื้นที่ก็มีกรณีตัวอย่างพื้นที่และประเด็นของการสร้างสุขภาวะและการลดความเหลื่อมล้ำ มีการสนับสนุนการใช้เครื่องมือในระบบหลักหรือองค์กรในรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสม จากกรอบแนวคิดปัจจัยกำหนด พบว่าปัจจัยทั้งเรื่องของประชาชน การศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาที่จะทำให้คนมีทักษะในการอ่าน การใช้ชีวิต เศรษฐกิจ ซึ่งเริ่มเปลี่ยนไปในเขต ๑๒ มีจังหวัดที่ติดอันดับ ๑๐ คนจนสูงสุดใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้เห็นว่าปัจจัยสำคัญคือเรื่องของการกระจายอำนาจ กลุ่มคนเปราะบางมีความเหลื่อมล้ำ ในเรื่องของพหุวัฒนธรรมชนชั้นทางสังคม เป็นปัจจัยโครงสร้างจะทำให้เกิดปัจจัยส่งผ่านทั้งเรื่องของการมีงานทำและที่อยู่อาศัย ปัญหาใหม่ที่กำลังเผชิญอยู่คือปัญหาสุขภาพจิต โภชนาการและการตายของแม่ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และเพื่อนำไปสู่กรอบในการกำหนดทิศทงาการทำงานของ กขป.ต่อไป
๓.๒ ปัจจัยระบบและกลไกทางสังคมกับการขับเคลื่อนกขป. องค์การอนามัยโลก เป็นกลไกกำกับปัจจัยสุขภาพระดับโลก และเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญทั้งตัวชี้วัดด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ปัจจัยกำหนดสุขภาพด้านระบบและกลไกเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โลกทั้งโลกขับเคลื่อนด้านคุณภาพชีวิตของคนเป็นเรื่องที่สำคัญค่อนข้างอันดับต้น ๆ มีการกำหนดปัจจัยที่สำคัญ ปัจจัยกำหนดสุขภาพด้านระบบสุขภาพและกลไกทำอย่างไรให้ส่งผ่านไปยังสุขภาพสุขภาวะของประชาชนทั่วไปได้หน่วยงานองค์กรสาธารณสุขระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ ระดับเขต จังหวัด พื้นที่ หน่วยงานการศึกษาด้านสุขภาพ อปท. และกลไกเครือข่ายทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะและคุณภาพชีวิต เครือข่ายในระดับเขต จังหวัด มีโรงพยาบาล ศูนย์อนามัย ศูนย์สุขภาพจิต โรงพยาบาลระดับต่างๆ มีมากมาย ศูนย์คุ้มครองควบคุมโรคติดต่อ สปสช. เขตสุขภาพที่ ๑๒ ฯลฯ จะเห็นว่าในระดับเขต ๑๒ มีหน่วยงานที่มีศักยภาพมีความสำคัญเต็มพื้นที่ หน่วยที่มีบทบาทคือ อบต. ที่มีคุณภาพมีมากหลายท้องถิ่น หลายเทศบาลที่ได้รับรางวัลและเป็นผู้นำในการสร้างรูปธรรมต้นแบบที่สำคัญในการดูแลสุขภาพหรือคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ร่วมกับอบต.หรือท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาสังคมก็มีบาทสำคัญในการเสริมช่องว่างในการประสานงานของหน่วยงานรัฐ ภาคีเอกชน มีลักษณะการทำงานในการเสริมสร้างสุขภาวะ มีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติการเฉพาะประเด็น เช่น ประเด็นเด็ก ทรัพยากร ผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง และประเด็นเฉพาะในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะมีพื้นที่ทำงานและมีบทบาทสำคัญในการสร้างแบบอย่างที่ดีเป็นพื้นที่ต้นแบบในพื้นที่ต่างๆ
๓.๒.๑ ปัจจัยกำหนดสุขภาพด้านระบบ อัตราการตาย การติดเชื้อโควิด โภชนาการเด็ก สถานการณ์โควิด ผลกระทบทุกระดับ ซึ่งได้ทำแบบจำลองในการประเมินสถานการณ์ไว้ ๓ ระดับคือ
๑) ฉากทัศน์ที่ ๑ มีผลกระทบไปเสริมสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวให้รุนแรงมากขึ้น เช่น ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดประทุเพิ่มขึ้น โควิด ๑๙ ระบาดอีกหลายระลอก เกิดภัยพิบัติอุทกภัยอย่างรุนแรง งบประมาณของหน่วยงานติดลบมีข้อจำกัดในการทำงาน ประชาชนแร้นแค้น ย้ายถิ่น รอรับการเยียวยาอย่างเดียว ๒) ฉากทัศน์ที่ ๒ สถานการณ์และข้อมูลเป็นเหมือนปัจจุบัน แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถแก้ปัญหาและพัฒนาตามศักยภาพตามกำลังคน แผนงานงบประมาณและการสนับสนุนของรัฐบาล แก้ปัญหาบางเรื่องได้ดี บางปัญหายังเหมือนเดิม และพร้อมที่จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น ๓) ฉากทัศน์ที่ ๓ สถานการณ์และข้อมูลเหมือนปัจจุบัน แต่ถูกสังเคราะห์ร่วมกันให้เห็นถึงแนวโน้มอนาคต หน่วยงานรัฐ การศึกษา อปท. เอกชน ประชาสังคม มีการบูรณาการทั้งแผนยุทธศาสตร์และทรัพยากร เพื่อรับมือ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ร่วมสร้างแบบอย่างที่ดีทั้งประเด็นและพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อขยายผลสู่ระดับเขตได้
๓.๒.๒ บูรณาการทั้งประเด็น(Agenda) พื้นที่ (Area) และการทำงาน(Function)
ประเด็นขับเคลื่อนหลัก
คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต ๑๒ มี ๕ ประเด็นหลักที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน ได้แก่
๑.การรับมือโควิด-๑๙
๒.บุหรี่และปัจจัยเสี่ยง
๓. สุขภาวะแม่และเด็ก
๔. สุขภาวะกลุ่มเปราะบางทางสังคม
๕. เกษตรและอาหารเพื่อสุขภาพ
รูปแบบของเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต ๑๒ กลไกหลักประกอบด้วยคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ๔๕ คน กขป. มีวาระ ๔ ปี มีบทบาทหน้าที่กำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์ ในการดำเนินการและพัฒนาระบบสุขภาพในเขตฯ โดยบูรณาการภารกิจ อำนาจหน้าที่ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ดำเนินการหรือประสานงานให้เกิดการขับเคลื่อน ติดตาม,ประเมินผลการดำเนินงาน
ทั้งนี้เขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขต ๑๒ มีโครงสร้างการดำเนินงานดังนี้
ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต ๑๒นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้แทนบุคลากรด้านสาธารณสุขในเขตพื้นที่รองประธาน คนที่ ๑ นายสมพร สิริโปราณานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหาร รองประธาน คนที่ ๒ นายนฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาสังคมและชุมชนท้องถิ่น
คณะเลขานุการร่วม ประกอบด้วยเลขานุการ ได้แก่ นายชาคริต โภชะเรือง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) และมีเลขานุการร่วมประกอบด้วย นายประดิษฐ์ นิจไตรรัตน์ ผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายสายันต์ อาจณรงค์ ผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และดร.สมพร เนติรัฐกร ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยมีผู้ประสานงานประจำศูนย์ ได้แก่ นางสาวกมลทิพย์ อินทะโณ
ศูนย์ประสานงานเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต ๑๒ อยู่ที่ ๗๓ ซอย ๕ ถนนเพชรเกษม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โทรศัพท์และแฟกซ์ ๐๗๔ ๒๒๑๒๘๖ ช่องทางประชาสัมพันธ์กิจกรรมประกอบด้วยเว็บไซต์ www.ahsouth.com เฟชบุ๊คกลุ่มสาธารณะ ชื่อ เขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต ๑๒ และเพจ : เขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต ๑๒
Relate topics
- ภารกิจภาคีเครือข่ายโครงการการพัฒนาระบบการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติด้วยข้อมูล ความรู้ แบบสหวิทยาการในพื้นที่ประสบภัยพิบัติซ้ำซากจังหวัดปัตตานี
- สงขลา "ความสุขเริ่มที่บ้าน : ปรับสภาพบ้านคนพิการติดเตียงสิทธิ์บัตรทอง"
- ประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการขับเคลื่อนแผนชุมชนสู่การพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการจังหวัดพัทลุง
- เยาวชนต้องพร้อม สู่อาสาสมัครรับมือน้ำท่วม (สงขลา)
- การหารายได้เสริมจากผักที่เราปลูก: กรณีของ “กะละห์” ต้นแบบจาก Node สสส.ปัตตานี
- ประชุมทีมปรับสภาพบ้านและส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานสำหรับคนพิการติดเตียงสิทธิ์บัตรทอง จ.สงขลา"
- พมจ.สงขลา เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
- สร้างที่อยู่อาศัยโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน นวัตรกรรมทางความคิดเพื่อชุมชนเข้มแข็งชุมชนปันรักบ้านปันสุขตำบลท่าข้าม สงขลา
- เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน(ขสย.) รุกทำงานกับกองทุนสุขภาพตำบล สปสช.เขต 12 ไฟเขียวนำร่อง 18 พื้นที่ 6 จว.ลดปัจจัยเสี่ยงจากบุหรี่ไฟฟ้า
- "สงขลาพัฒนาระบบรับส่งผู้ป่วยไปพบแพทย์"