"ประชุมเชิงปฏิบัติการ สร้างข้อตกลงร่วม:ความสุขเริ่มที่บ้านกับหุ้นส่วนทางสังคม จ.สงขลา"
"ประชุมเชิงปฏิบัติการ สร้างข้อตกลงร่วม:ความสุขเริ่มที่บ้านกับหุ้นส่วนทางสังคม จ.สงขลา"
วันที่ 23 มกราคม 2568 โครงการ "รวมพลังชาวสงขลาให้ทุกครัวเรือนมีบ้าน : ความสุขเริ่มที่บ้าน" ภายใต้โครงการหุ้นส่วนทางสังคมเพื่อสังคมสุขภาวะ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ครั้งที่ 2 ณ ห้องประชุมชั้น 2 โรงแรมวีวา จังหวัดสงขลา มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆจำนวน 100 คน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้นางณิชาพัชฌ์ เพ็ชรพันธุ์ พมจ.สงขลาเป็นประธานเปิดงาน
กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย
1)เสวนา "รวมพลังชาวสงขลาให้ทุกครัวเรือนมีบ้าน : ความสุขเริ่มที่บ้าน"
บอกเล่าแนวคิดและแนวทางการดำเนินงาน โดย นางณิชาพัชฌ์ เพ็ชรพันธุ์ พมจ.กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการและบทบาทของพมจ.ที่มี 11หน่วยงานในสังกัดดูแลกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มวัยตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องการร่วมกับหุ้นส่วนทางสังคมในการสร้างความรับรู้และเข้าถึงข้อมูล ร่วมกันรับมือปัญหาร่วม โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมสูงวัย
อบจ./กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัด โดยนางฐิตารีย์ เชื้อพราหมณ์ กล่าวถึงบทบาทของกองทุนในการสนับสนุนการปรับสภาพบ้านเพื่อคนพิการติดเตียงสิทธิ์บัตรทองในกลุ่มต่างๆ ที่จะมีการคัดแยกเขียว-เหลือง-แดง จำนวน 904 คน วางเป้าหมายปี 68 ที่จะทำงานร่วมกับเครือข่าย 300 หลัง โดยนำความรู้ในการปรับบ้านของสถาปนิกมาช่วยยกระดับ
นายวัญดี เจ๊ะแน สถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน เล่าแนวคิดการใช้ความรู้มาออกแบบบ้านให้ใช้วัสดุ ช่างฝีมือ เงินอย่างประหยัดและสอดคล้องกับพื้นที่ชีวิตและพื้นที่จำเป็นในการใช้สอย ทีมสถาปนิกอาสาจำนวนหนึ่งจะลงมาช่วยออกแบบบ้านคนพิการติดเตียงรายหลัง พร้อมรายละเอียดวัสดุ/ราคา อำนวยความสะดวกให้กับอปท.ในการรับช่วงปรับสภาพบ้าน และมีภาคประชาสังคม อาทิ มูลนิธิฅนช่วยคน นายอิสม่าแอน หมัดอะด้ำ นำแนวทางการปรับความคิดของคนในชุมชนร่วมกันปรับสภาพบ้านโดยไม่ต้องรองบประมาณ เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุดสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน ซึ่งจะต้องมีการใช้ข้อมูลเพื่อชี้เป้าและกลไกประสานเชื่อมโยง รวมถึงมูลนิธิอาสาสร้างสุข นายนิพนธ์ รัตนาคม ที่จะมาร่วมประสานทรัพยากรในการช่วยเหลือดูแล และมูลนิธิชุมชนสงขลา/สมัชชาสุขภาพจังหวัด นายชาคริต โภชะเรือง ช่วยอำนวยความสะดวกพัฒนาระบบข้อมููล iMed@home สำรวจผ่านแบบช่วยเหลือครัวเรือนเพื่อปรับสภาพบ้านให้กับสถาปนิกและจิตอาสาของพมจ.ลงเก็บข้อมูลครัวเรือนเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิ์และสวัสดิการพื้นฐาน 4 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม รวมถึงการใช้งานสมัชชาพลเมืองจังหวัดในการกำหนดวาระร่วม
2)การสร้างข้อตกลงร่วมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยจังหวัดสงขลา "ความสุขเริ่มที่บ้าน" ผ่านกระบวนเวิร์ลคาเฟ่ 5 กลุ่มย่อย
โดยมี เป้าหมายร่วม
1.ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการพื้นฐานของทุกช่วงวัย
2.การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยเพื่อคนทุกวัย
3.การออกแบบที่อยู่อาศัยและบูรณาการความร่วมมือให้สอดคล้องกับความต้องการของคนพิการแต่ละประเภท
4.การบูรณาการฐานข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยในการดำเนินงาน
กลุ่มย่อยประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 มิติ+1 ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสภาพแวดล้อม และด้านเทคโนโลยีและนวตกรรม ผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ แต่ละกลุ่มจะร่วมเติมเต็มสถานการณ์พื้นฐาน ต้นทุนที่สำคัญที่มีอยู่ ความหมายหรือคำจำกัดความของแต่ละด้าน องค์ประกอบ ตัวชี้วัดความสำเร็จ และข้อเสนอแนะความร่วมมือของหน่วยงาน ตลอดจนบทบาทที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุตัวชี้วัด
ข้อตกลงที่ได้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนในพื้นที่ระดับโซน สนับสนุนการดำเนินงานหลังจากที่ทีมสถาปนิก จิตอาสา ลงเก็บข้อมูล นำข้อมูลไปสู่การประสานส่งต่อ การให้ความช่วยเหลือและร่วมกันปรับสภาพบ้าน เมื่อสิ้นสุดโครงการจะมีการประกาศข้อตกลงความร่วมมือในระดับจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป
ชาคริต โภชะเรือง บันทึกเรื่องราว
Relate topics
- ประชุมเตรียมงานเวทีโชว์แชร์เชื่อม บุหรี่ไฟฟ้า ระดับภาคใต้
- สท.-สนง.เกษตรสงขลา จัดเวทีถอดบทเรียนยกระดับเครือข่ายเกษตรกรผลิตผักอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยี
- กขป.12 ประชุมสรรหากรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนที่มีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2568 - 2572
- จังหวะก้าวสำคัญ 3 เคลื่อนเพื่อพัทลุง
- “กขป.เขต 12 จัดเวทีเสนอแนะเชิงนโยบาย ชี้ปัญหาเร่งด่วนและข้อเสนอความร่วมมือโดยใช้เทคโนโลยี และทุนทางพหุวัฒนธรรมลดความเปราะบางของครอบครัว”
- บพท. และ ม.อ.ปัตตานี จับมือ พอช. พร้อมบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อร่วมพัฒนาตำบลแก้จนนำร่องในพื้นที่เมืองปัตตานี
- System Map และ ข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ (เครือข่าย กขป.เขต 12)
- การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความมั่นคงทางอาหาร
- ตำบลพุมเรียง ชูผักไชยา และปลาอินทรีย์ ปั้นเมนูสุขภาพกินดี อยู่ดี ลด NCDs ที่พุมเรียง
- ต้นทุนเพื่อการพัฒนา จากทีมสนับสนุนชุมชนน่าอยู่เล็ก ๆ สู่โมเดลสุขภาวะชุมชนภาคใต้